โรคเปลือกตาอักเสบ (Blepharitis) คือ ภาวะการอักเสบของผิวหนังที่เกิดขึ้นบริเวณเปลือกตา โดยเฉพาะบริเวณขอบเปลือกตา ซึ่งประกอบด้วยขนตา ต่อมรากขนตา และต่อมไขมัน และมักเป็นสาเหตุของอาการระคายเคืองตา เจ็บตา และไม่สบายตาที่พบได้บ่อยทั้งในเพศชายและเพศหญิง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
โรคเปลือกตาอักเสบถือเป็นโรคแบบเรื้อรัง แต่ไม่เป็นโรคติดต่อ และแม้ว่าจะเป็นโรคไม่ร้ายแรงถึงขั้นทำให้ตาบอด แต่ก็อาจรบกวนชีวิตประจำวันและสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบริเวณขอบเปลือกตาแบบถาวร ส่งผลให้ตาแห้ง ขนตาเก ผิวกระจกตาอักเสบ หรือเป็นแผลที่กระจกตา และส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นแย่ลงได้
ชนิดของเปลือกตาอักเสบ
การแบ่งชนิดของเปลือกตาอักเสบตามสาเหตุของการเกิดเปลือกตาอักเสบ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ดังนี้
- เปลือกตาอักเสบชนิดที่เกิดจากเปลือกตาติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcal Blepharitis) เป็นโรคเปลือกตาอักเสบที่เกิดจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บนผิวหนังของมนุษย์ ซึ่งไม่สร้างสารพิษและไม่ก่อให้เกิดอันตราย เพียงแต่อาจทำให้เปลือกตาอักเสบได้
- เปลือกตาอักเสบชนิดที่เป็นการอักเสบของผิวหนังรอบ ๆ ต่อมสร้างไขมันที่เปลือกตา (Seborrheic Blepharitis) เป็นการอักเสบของผิวหนังรอบ ๆ ต่อมไขมัน มีลักษณะคล้ายกับโรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม ทำให้ผิวมัน ตกสะเก็ดคล้ายรังแค และมีผื่นคันบนหน้าหรือร่างกาย
- เปลือกตาอักเสบชนิดที่เกิดจากต่อมไมโบเมียนทำงานผิดปกติ หรือมักเรียกกันว่า Meibomian Gland Dysfunction (MGD) ซึ่งเกิดจากการที่ต่อมไมโบเมียนทำงานผิดปกติ หากต่อมนี้ทำงานได้น้อยลง จะทำให้น้ำตาระเหยได้เร็ว จนเกิดเป็นตาแห้ง ตาแดง เคืองตา คันตา น้ำตาไหล แต่หากทำงานมากเกินไปจะทำให้หนังตาแดง มีคราบขี้ตา หรือสะเก็ดบริเวณขนตา
ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเปลือกตาอักเสบทั้งสามชนิดร่วมกันได้ เนื่องจากการอักเสบของผิวหนังรอบ ๆ ต่อมไขมันและต่อมน้ำตาไมโบเมียนทำงานผิดปกติมักเกิดขึ้นพร้อมกัน และมักติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟีโลค็อกคัสร่วมด้วย
สาเหตุของเปลือกตาอักเสบ
ปัจจุบัน สาเหตุของเปลือกตาอักเสบนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคเปลือกตาอักเสบ เช่น
- การติดเชื้อแบคทีเรีย
- การติดเชื้อราที่เปลือกตา
- การได้รับสิ่งสกปรกบริเวณเปลือกตา เช่น ฝุ่นละออง
- ไรฝุ่น ไรขนตา หรือมีเหาที่ขนตา
- การเขียนขอบตา การติดขนตาปลอม การใช้เครื่องสำอางบริเวณรอบดวงตา การสักขอบเปลือกตา
- การใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ
- การมีโรคต่าง ๆ บริเวณรอบดวงตา เช่น ตาแห้ง ขนตางอกผิดทิศทาง เยื่อบุตาอักเสบ กระจกตาอักเสบ เป็นต้น
- การมีภาวะภูมิแพ้ของตา รวมทั้งโรคทางระบบร่างกาย เช่น โรคภูมิแพ้ โรคแพ้ภูมิตนเอง โรคต่อมไมโบเมียนทำงานผิดปกติ โรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม โรคโรซาเซีย ผู้มีภาวะหมดประจำเดือน มีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง เป็นต้น
- การได้รับยาบางอย่าง เช่น ยาแก้แพ้ ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เปลือกตาอักเสบ
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคเปลือกตาอักเสบ ได้แก่
- มีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับตา เช่น ขนตาขึ้นผิดทิศทาง ขนตาหลุด
- มีปัญหาผิวบริเวณเปลือกตาที่อาจก่อให้เกิดแผลบริเวณดังกล่าว
- การสัมผัสสารระคายเคือง เช่น ฝุ่นละออง สารเคมี
- การใส่คอนแทคเลนส์
- การกำจัดคราบเครื่องสำอางออกไม่หมด
- ภาวะเปลือกตาม้วนเข้า
- การบาดเจ็บบริเวณกระจกตา
- การติดเชื้อบริเวณโคนขนตาที่อาจทำให้ตาขาวอักเสบ
- การใช้ยารักษามะเร็ง
- โรคเบาหวาน
- สภาพแวดล้อมที่อากาศแห้ง เช่น อยู่ในห้องปรับอากาศเป็นเวลานาน
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหรือวัยหมดประจำเดือน
อาการเปลือกตาอักเสบ
อาการทั่วไปของโรคเปลือกตาอักเสบ ได้แก่
- คันเปลือกตา หรือเจ็บเปลือกตา รู้สึกเหมือนมีทรายหรือสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา
- เปลือกตาบวมแดง มีตุ่มสีขาวคล้ายสิวบริเวณเปลือกตาหรือขอบเปลือกตา
- ปวดแสบปวดร้อนตา แสบตา มีอาการระคายเคืองตา ตาแดง
- มีอาการอักเสบและหนังตามีลักษณะมัน
- มีขี้ตามาก โดยเฉพาะตอนเช้า
- มีเศษกรังที่ฐานขนตา หรือมีสะเก็ดเล็ก ๆ คล้ายรังแคที่เปลือกตา
- น้ำตาไหลบ่อย ตาแฉะ
- กะพริบตาบ่อยกว่าปกติ
- ขนตาร่วง
- ขนตาขึ้นผิดปกติ โดยงอกแล้วงอเข้าด้านใน ทำให้ขนตาทิ่มตา
- ดวงตาไวต่อแสง ตาพร่ามัว
ภาวะแทรกซ้อนจากเปลือกตาอักเสบ
โรคเปลือกตาอักเสบอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ตาแห้ง น้ำตาไหลบ่อย ขนตางอกผิดทิศทาง แผลเป็นที่ขอบเปลือกตา ขอบเปลือกตาม้วนเข้าหรือม้วนออก ตากุ้งยิง (Stye) ตาแดงเรื้อรังจากเยื่อบุตาอักเสบ กระจกตาถลอก หรือเป็นแผลจากการระคายเคืองจากเปลือกตาอักเสบหรือขนตางอกผิดทิศทาง หรือในกรณีที่อาการเปลือกตาอักเสบรุนแรงมาก และไม่ตอบสนองต่อวิธีการรักษา อาจทำให้ผิวของกระจกตาเสียหาย หรือกระจกตาอักเสบ ซึ่งอาจทำให้การมองเห็นแย่ลงแบบถาวรได้
การรักษาเปลือกตาอักเสบ
วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาเปลือกตาอักเสบ คือ การรักษาความสะอาดบริเวณเปลือกตาและขอบเปลือกตา ซึ่งผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้ง่าย ๆ ด้วยแนวทางเหล่านี้
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตาหรือใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าการอักเสบจะดีขึ้นเพื่อลดการระคายเคือง
- ประคบอุ่น โดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นบิดหมาด ๆ นำมาประคบรอบดวงตาเป็นเวลา 10-15 นาที วันละ 1-2 ครั้ง เพื่อให้คราบขี้ตาหรือสิ่งอุดตันบริเวณเปลือกตานุ่มลง และล้างออกได้ง่ายขึ้น
- ทำความสะอาดเปลือกตาโดยผสมแชมพูเด็กกับน้ำสะอาดในอัตราส่วน 1:1 ใช้ผ้าสะอาดหรือแผ่นสำลีชุบน้ำผสมแชมพูถูไปมาเบา ๆ ตามแนวโคนขนตาและขอบเปลือกตาหลาย ๆ ครั้ง จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด และซับให้แห้ง
- นวดเปลือกตา โดยดึงหัวตาและหางตาให้ตึง กดรูดเปลือกตาส่วนบนจากบนลงล่าง ส่วนเปลือกตาล่าง นวดโดยกดรูดจากล่างขึ้นบน ซึ่งเป็นการนวดตามวางตัวของต่อมไขมัน
- ใช้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยลดอาการตาแห้งและการระคายเคือง
หากอาการรุนแรงหรือไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาด้วยแนวทางอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาการใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ที่อยู่ในรูปแบบยาหยอดตา ขี้ผึ้งป้ายตา หรืออาจต้องใช้ยาชนิดรับประทานหากมีการติดเชื้อ ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจจ่ายยาสเตียรอยด์ (Steroids) เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ บวม แดง หรืออาการระคายเคือง หรือใช้ยาปรับภูมิต้านทาน (Immunomodulators) เช่น ยาชนิดหยอดตาเพื่อช่วยลดการอักเสบในบางกรณี เช่น การอักเสบของขอบเปลือกตาส่วนหลัง เป็นต้น
วิธีการป้องกันเปลือกตาอักเสบ
เปลือกตาอักเสบมักเป็นเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด และมักกลับมาเป็นซ้ำ ผู้ป่วยจึงควรรักษาความสะอาดและสุขอนามัยของเปลือกตาและใบหน้าอย่างสม่ำเสมอ การเลี่ยงหรือควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ก็มีส่วนช่วยลดอาการของโรคเปลือกตาอักเสบ ทำให้โรคหายเร็วขึ้นและไม่กลับมาเป็นซ้ำบ่อย ๆ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการรักษาความสะอาดของใบหน้าและมือ พยายามไม่สัมผัส เกาใบหน้า หรือขยี้ตา หากมีการใช้เครื่องสำอาง จำเป็นต้องล้างเครื่องสำอางให้สะอาดหมดจดทุกครั้ง ไม่นอนหลับข้ามคืนโดยยังมีเครื่องสำอางบนใบหน้า นอกจากนี้ในผู้ที่มีปัญหาสายตา ควรสลับใส่แว่นตาและแทนคอนแทคเลนส์เป็นครั้งคราวเพื่อลดอาการตาแห้งหรือการสะสมสิ่งสกปรก หากมีน้ำตา ควรซับคราบน้ำตาหรือยาหยอดตาที่ล้นออกมาจากตาด้วยกระดาษทิชชู่สะอาดหรือสำลีสะอาด และรับประทานโอเมก้า-3 ในน้ำมันตับปลาเป็นประจำเพื่อบำรุงดวงตา ช่วยให้การอักเสบและอาการตาแห้งดีขึ้น