โรคเก๊าท์ (Gout) คืออะไร พร้อมข้อมูล สาเหตุของโรคเก๊าท์ อาการ วิธีการรักษาและแนวทางการป้องกัน

โรคเก๊าท์ (Gout) คืออะไร พร้อมข้อมูล สาเหตุของโรคเก๊าท์ อาการ วิธีการรักษาและแนวทางการป้องกัน

อาการปวด บวม แดงตามข้อ หรือความรู้สึกไม่สบายบริเวณข้ออาจเป็นสัญญาณเตือนของ ‘โรคเก๊าท์’ ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ป่วยเพศชายที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยเพศหญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ส่งผลให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ลำบาก เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมประจำวัน เช่น การเดินหรือทำงาน แม้โรคเก๊าท์จะเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ แต่ต้องมีการควบคุมการรับประทานอาหารและเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปด้วย อาการจึงจะบรรเทาลงได้ แต่ในกรณีที่ปล่อยให้โรคเก๊าท์กำเริบโดยไม่รักษาก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

คนชรากำลังเจ็บหัวเข่า

โรคเก๊าท์ (Gout) คืออะไร

โรคเก๊าท์ (Gout) คือ โรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย เกิดจากการสะสมของกรดยูริคในเลือดสูงกว่าปกติ ทำให้มีการตกผลึกยูริคและกลายเป็นปุ่มก้อนในข้อและเนื้อเยื่อรอบข้อ และเป็นที่มาของอาการปวด บวม แดง ร้อน และตึงบริเวณข้อ โดยเฉพาะข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ นิ้วมือ และนิ้วเท้า อาการปวดข้อจากโรคเก๊าท์อาจเป็นอยู่นาน 2-3 วันจนถึง 2-3 สัปดาห์และจะค่อย ๆ ทุเลาลงตามลำดับ

 

สาเหตุของโรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์มีสาเหตุมาจากการสะสมของกรดยูริคในร่างกายผิดปกติ ซึ่งกรดยูริคเป็นกรดที่เกิดจากการเผาผลาญธาตุอาหารที่มีชื่อว่าพิวรีน (Purine) เป็นสารที่ร่างกายสังเคราะห์ได้เองและพบได้ในอาหารจำพวกเนื้อแดงและอาหารทะเล โดยมีไตเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ขับกรดยูริคออกจากร่างกาย เมื่อร่างกายสร้างกรดยูริกมากเกินไป หรือขับออกทางไตได้น้อยเกินไป จะทำให้ร่างกายมีการสะสมกรดยูริคมากเกินไปจนเกิดการตกผลึกเป็นยูริคและกลายเป็นปุ่มก้อนในข้อและเนื้อเยื่อรอบข้อ ส่งผลให้เกิดอาการปวดตามข้อนั่นเอง

 

ปัจจัยเสี่ยงของโรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์มีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ เพศและอายุ โดยเพศชายจะมีความเสี่ยงสูงกว่าเพศหญิง

พันธุกรรม ภาวะน้ำหนักตัวเกิน การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ หรือยาบางชนิดที่ใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง การบริโภคอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เนื้อสัตว์บางชนิด และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต หรือโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคเก๊าท์มากขึ้น

ผู้ชายกำลังปวดเท้า

อาการของโรคเก๊าท์

อาการของโรคเก๊าท์ ได้แก่ อาการปวดข้ออย่างรุนแรง มักเริ่มในช่วงกลางคืนหรือเช้าตรู่ โดยข้อจะบวม แดง ร้อน ตึง มักมีอาการกำเริบเป็นพัก ๆ ปวดเป็น ๆ หาย ๆ หรือปวดเรื้อรัง ส่วนที่พบอาการบ่อยที่สุด คือ ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ นิ้วมือ ข้อศอก และนิ้วเท้า ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการปวดทรมานมากจนไม่สามารถลงน้ำหนักบริเวณข้อได้ หากปล่อยไว้นาน อาจเกิดการเสียหายถาวรที่ข้อต่อได้ ในรายที่เป็นเรื้อรังจะมีการรวมตัวของกรดยูริกเกิดเป็นก้อนที่ข้ออย่างเห็นได้ชัด หรือในรายที่เป็นเกาต์มานานอาจพบนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะได้

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเก๊าท์

ผู้ป่วยโรคเกาต์ที่ไม่เข้ารับการรักษาอาจมีปัญหาที่รุนแรงตามมา เช่น เป็นโรคเกาต์ที่กำเริบขึ้นซ้ำ ๆ ส่งผลให้ข้อต่อเสียหายและเคลื่อนไหวได้อย่างจำกัด นอกจากนี้อาจมีการสะสมของผลึกยูริค ใต้ผิวหนังเป็นก้อนที่เรียกว่า ก้อนเก๊าท์ (Tophi) ซึ่งสามารถพบได้ทั้งบริเวณนิ้ว มือ เท้า ข้อศอก และเอ็นร้อยหวายหลังข้อเท้า ซึ่งอาจเห็นได้ชัดเจนที่ผิวหนังและทำให้เกิดการอักเสบ นอกจากนี้ยังอาจเกิดการสะสมของกรดยูริกในระบบปัสสาวะที่ทำให้เกิดนิ่วในไต รวมถึงโรคไต เนื่องจากระดับกรดยูริกที่สูงในเลือดอาจทำให้ไตทำงานหนักเกินไป ส่งผลให้ไตเสียหายหรือเป็นโรคไตเรื้อรังได้

 

ใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของโรคเก๊าท์

  • เพศชาย โดยเฉพาะในช่วงอายุ 30-50 ปี รวมถึงผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเก๊าท์
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วน
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือกลุ่มอาการทางเมตาบอลิซึม เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคไต
  • ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) ที่ใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง หรือยาที่ส่งผลต่อการขับกรดยูริก
  • ผู้ที่บริโภคอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เนื้อแดง อาหารทะเล หรืออาหารที่มีพิวรีนสูง
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์และสุรา
  • ผู้ที่ดื่มน้ำไม่เพียงพอเป็นประจำ
  • ผู้ที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูง

 

โรคเก๊าท์มีความอันตรายมากน้อยเพียงใด

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โรคเก๊าท์อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโดยตรง อาการปวดที่รุนแรงและการอักเสบในข้อต่อสามารถทำให้เกิดความเจ็บปวดมากจนจำกัดการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน หากปล่อยให้มีการสะสมของกรดยูริกในเลือดสูงเกินไปยังส่งผลให้เกิดการเสียหายต่อข้อและไต รวมถึงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น นิ่วในไต โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองได้

 

วิธีป้องกันโรคเก๊าท์

การป้องกันโรคเก๊าท์สามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดูแลสุขภาพดังนี้

  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีพิวรีนสูงโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • ลดการบริโภคน้ำตาล
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงและออกกำลังกายเป็นประจำ

ผู้ป่วยกำลังปรึกษาแพทย์

แนวทางการรักษาโรคเก๊าท์

การรักษาโรคเก๊าท์สามารถทำควบคู่กันทั้งการใช้ยาและการปรับพฤติกรรม เช่น การควบคุมอาหาร ลดบริโภคอาหารที่มีพิวรีนสูง ลดน้ำหนักในกรณีที่มีภาวะน้ำหนักเกิน งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อช่วยขับกรดยูริกออกจากร่างกาย เป็นต้น

 

ยาที่ใช้ในการรักษาโรคเก๊าท์

ยาที่ใช้ในการรักษาโรคเกาต์มี 2 ประเภท อย่างไรก็ตาม ยาแต่ละประเภทมีข้อชี้บ่งในการใช้และผลข้างเคียงแตกต่างกันไป และยาบางชนิดอาจมีปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นได้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา

  • ยาระงับการอักเสบ ช่วยลดการอักเสบและความรู้สึกไม่สบายตัวที่มาพร้อมกับโรคเกาต์ เช่น ยาโคลชิซิน (Colchicine) และยาต้านการอักเสบ (NSAIDs)
  • ยาลดกรดยูริก ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเกาต์โดยลดระดับกรดยูริกในเลือดให้สมดุล ทำให้ผลึกเกลือยูริคที่สะสมในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายละลายออกมา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ยาเร่งการขับกรดยูริกออกทางไต ได้แก่ ยาโพรเบเนซิด (Probenecid) ยาเบนซ์โบรมาโรน (Benzbromarone) และยาซัลฟินไพราโซน (Sulfinpyrazone) และยายับยั้งการสร้างกรดยูริก ได้แก ยาอัลโลพูรินอล (Allopurinol) และยาฟีบัคโซสตัต (Febuxostat)

 

แนวทางการดูแลร่างกายของผู้ป่วยโรคเก๊าท์

  • การควบคุมอาหาร ลดบริโภคอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เนื้อสัตว์บางชนิด
  • ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อช่วยขับกรดยูริกออกจากร่างกาย
  • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • หากมีอาการปวดเฉียบพลัน ไม่ควรบีบนวดบริเวณที่ปวด ให้พักการใช้ข้อที่อับเสบ แล้วใช้วิธีประคบเย็นช่วยบรรเทาอาการ
  • ตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเก๊าท์ เช่น ประวัติครอบครัวมีโรคเก๊าท์ ภาวะน้ำหนักเกิน หรือมีโรคประจำตัวอื่น ๆ
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

 

อาหารที่ควรทานและไม่ควรทานสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์

ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรให้ความสำคัญกับอาหารการกินในแต่ละมื้อ เพราะอาหารบางชนิดอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการกำเริบได้ อาหารที่รับประทานสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มตามปริมาณของสารพิวรีนในอาหาร คือ

  • อาหารที่ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรงดเว้นหรือหลีกเลี่ยง (มีสารพิวรีนมากกว่า 150 มิลลิกรัม) ได้แก่ เครื่องในสัตว์ ปลาซาร์ดีน ไข่ปลา หอยเซลล์ ปลาทู ไก่ เป็ด นก น้ำปลา กะปิจากปลาไส้ตัน ยีสต์และอาหารหมักจากยีสต์ เช่น เบียร์ เป็นต้น
  • อาหารที่ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ทานได้ในปริมาณจำกัด (มีสารพิวรีนอยู่ที่ 50-150 มิลลิกรัม) ได้แก่ เนื้อวัว ผ้าขี้ริ้ว เนื้อหมู เนื้อปลา ปู กุ้ง หอย อาหารจำพวกถั่ว หน่อไม้ฝรั่ง ผักโขม เห็ด ดอกกะหล่ำ ชะอม กระถิน เป็นต้น
  • อาหารที่ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ทานได้ (มีสารพิวรีนอยู่ที่ 0-50 มิลลิกรัม) ได้แก่ ข้าว ขนมจีน เส้นก๋วยเตี๋ยวทุกชนิด ข้าวโพด ไข่ นมและผลิตผลจากนม น้ำมันพืช กะทิ เนย น้ำมันหมู ผักและผลไม้เกือบทุกชนิด เกาลัด เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น

 

โรคเก๊าท์เกิดจากการทานเนื้อไก่เยอะจริงหรือไม่?

เนื้อไก่เป็นหนึ่งในอาหารที่มักถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุของโรคเก๊าท์ เนื่องจากมีปริมาณพิวรีนที่สูงกว่าเนื้อสัตว์บางชนิด เช่น ปลาทะเล แต่ไม่ใช่เป็นอาหารที่ทำให้เกิดโรคเก๊าท์โดยตรง ดังนั้นจึงแนะนำให้บริโภคเนื้อไก่ในปริมาณที่พอเหมาะและปรุงอาหารด้วยวิธีที่ถูกสุขลักษณะเพื่อควบคุมปริมาณพิวรีนที่ได้รับ และควรรับประทานอาหารที่หลากหลายและรักษาสมดุลเพื่อป้องกันโรคเก๊าท์

 

Ref:

https://www.vibhavadi.com/Health-expert/detail/117

https://www.vimut.com/article/gout-causes-symptoms-treatment

https://samitivejchinatown.com/th/article/bone-osteoarthritis/gout

 

สนใจขอรับบริการตรวจสุขภาพกับทาง Medical line lab สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากช่องทางดังนี้

เบอร์โทรศัพท์: 02-374-9604

Line: https://page.line.me/259wtcig?openQrModal=true

Contact us: https://www.medicallinelab.co.th/ติดต่อสอบถาม/

Website: https://www.medicallinelab.co.th/

Facebook: https://www.facebook.com/MLLmedicallinelab

Email: info@medicallinelab.co.th

Scroll to Top