การตรวจสุขภาพประจำปี ก็มีข้อสำคัญบางประการที่เราควรทำความเข้าใจก่อนที่จะตัดสินใจไปตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลที่เราไว้ใจ เพราะโปรแกรมตรวจสุขภาพทุกวันนี้ก็ใช่ว่าราคาถูก ทั้งนี้ ก็เพื่อให้คุ้มค่ากับเงินที่เราเสียไป
13 ข้อควรรู้ ก่อนตรวจสุขภาพประจำปี
กระแสการดูแลสุขภาพในบ้านเราทุกวันนี้ นับว่าได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากข่าวคราวการประชาสัมพันธ์สุขภาพ รวมถึงข่าวการรณรงค์และป้องกันโรคต่าง ๆ ที่มีผลทำให้เราตื่นตัวเรื่องสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะเห็นความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งจากข้อมูลในเว็บไซต์หมอชาวบ้าน ได้แนะถึง 13 ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจไปตรวจสุขภาพ เพื่อที่เราจะได้ตอบตัวเองได้ว่า การตรวจสุขภาพประจำปีนั้นมีความจำเป็นกับตัวเรามากน้อยแค่ไหน
13 ข้อควรรู้ ก่อนตรวจสุขภาพประจำปี
- ทำไม แต่ละปีคนไทยยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินค่าตรวจสุขภาพนับพันล้านบาทต่อปี
- เราจำเป็นต้องตรวจทุกปี หรือต้องตรวจปีละ 1-2 ครั้ง
- ตรวจร่างกายของเด็กกับผู้ใหญ่นั้นเหมือนกันหรือไม่
- ควรตรวจแบบไหนถึงจะไม่มี “โรค” ติดตัวกลับบ้าน
1. การตรวจสุขภาพ คืออะไร และตรวจอะไรกันบ้าง
การตรวจสุขภาพตามสถานพยาบาลทั่วไป โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวข้องกับ 2 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่ ตรวจเพื่อค้นหาโรคที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา และตรวจเพื่อค้นหาพฤติกรรมเสี่ยง และปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ดังนี้
ตรวจเพื่อค้นหาโรคที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา เป็นการตรวจสุขภาพที่ผู้ตัวถูกตรวจเองยังไม่มีปรากฏอาการเจ็บป่วยหรือความผิดปกติใด ๆ ให้สังเกตได้ เช่น โรคเบาหวานความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มะเร็งปากมดลูกระยะแรกเป็น ที่เราเรียกกันว่า “ภัยเงียบ” แต่กรณีที่มีอาการเจ็บป่วยปรากฏให้เห็นบ้างแล้ว และเราค่อยไปตรวจนั้น ไม่ถือว่าเป็นการตรวจสุขภาพ เรียกว่าเป็นการตรวจเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคอะไรมากกว่า ซึ่งการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยโปรแกรมการตรวจร่างกายนั้น อาจต้องมีการตรวจแล็บหรือตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเพื่อยืนยันผล เมื่อทราบผลการตรวจที่แน่นอนแล้วก็จะได้ให้การรักษาอย่างเหมาะสม
ตรวจเพื่อค้นหาพฤติกรรมเสี่ยง
และปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เป็นการตรวจเพื่อจะได้รู้ว่าสุขภาพของเราเป็นอย่างไรบ้าง และถ้าพบว่าเรามีพฤติกรรมเสี่ยงหรือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอะไร แพทย์ที่ตรวจก็จะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา
2. ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ใช้หลักการตรวจเหมือนกันหรือไม่
การตรวจสุขภาพทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ จะเกี่ยวข้องกับ 2 เรื่องหลัก ๆ คือ ค้นหาโรคที่ซ่อนอยู่ในตัวและค้นหาพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งกรณีของเด็กจะเป็นการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรค รวมถึงการตรวจการเจริญเติบโตและพัฒนาการว่าเป็นไปตามวัยหรือไม่ เพื่อป้องกันความผิดปกติ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดกับเด็ก
3. การตรวจสุขภาพ “จำเป็น” หรือไม่
การตรวจสุขภาพยังมีความจำเป็นอยู่ เพราะมีหลายโรคที่เป็น “ภัยเงียบ” เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มะเร็งปากมดลูกระยะแรก เป็นต้น เพราะการที่ไปตรวจสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยที่ร่างกายยังไม่มีอาการแสดงนั้น จะมีโอกาสตรวจพบโรคที่เป็น “ภัยเงียบ” ในระยะแรกเริ่มมากกว่า อีกทั้ง การที่เจอโรคตั้งแต่แรกจะเยียวยารักษาได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก หรือรักษาให้หายขาดได้เพียงแต่ต้องตรวจตามที่จำเป็นและเหมาะสมกับตัวเราเท่านั้น มิเช่นนั้นจะเกิดโทษได้
4. ทุกคนต้องตรวจสุขภาพแบบ “เหมาโหล” ตามโฆษณาหรือไม่
บอกได้เลยว่า ทุกคนไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพทุกรายการแบบเหมาโหล
5. การตรวจสุขภาพ ต้องตรวจให้เหมาะสมกับแต่ละคน
สาเหตุเพราะสุขภาพของแต่ละคนนั้นมีปัญหาต่างกันออกไป ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพทุกอย่างเหมือนกันตามที่โฆษณาชวนเชื่อเพื่อเรียกลูกค้าดังนั้น ควรตรวจสุขภาพเท่าที่จำเป็น และเหมาะสมกับแต่ละคนเท่านั้นดีกว่า หากตรวจเกินจำเป็นจะทำให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ และการตรวจบางอย่างอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เสียชีวิตได้
6. จำเป็นต้องตรวจสุขภาพทุกปีด้วยหรือ
สถานพยาบาลหลายแห่งใช้สำนวนทางการตลาดว่า “ตรวจสุขภาพประจำปี” ซึ่งทำให้หลายคนเข้าใจผิด เพราะ “ประจำปี” ฟังดูเสมือนว่า “ต้องตรวจเป็นประจำทุกปี” แต่ความจริงแล้ว ร่างกายมนุษย์ไม่ใช่เครื่องยนต์กลไก ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี เพียงแต่ควรตรวจตามความจำเป็นของแต่ละคน ขึ้นกับอายุ เพศ และโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรค เช่น กินอาหารรสจัด (หวาน มัน เค็ม) ทุกวันบริโภคเกินจนอ้วนหรือน้ำหนักเกิน ก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพควบคู่กับการไปตรวจร่างกาย
เมื่อพูดถึงเรื่องอายุ ขอพาดพิงกลุ่มเด็กด้วย นั่นคือ ไม่แนะนำให้ตรวจร่างกายเด็กทุกคน ยกเว้นเฉพาะเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยง (เด็กอ้วน)
7. อะไรคือ การตรวจสุขภาพที่เหมาะสม
ก่อนที่จะไปสถานพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพ เราควรรู้ให้แน่ชัดก่อนว่าจะไปตรวจอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้การตรวจสุขภาพผิดพลาด เพราะการตรวจสุขภาพนั้นจะต้องซักประวัติอย่างละเอียด ที่จะช่วยให้ค้นพบปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเมื่อรู้ปัจจัยเสี่ยงแล้ว ขั้นตอนถัดไปคือการตรวจร่างกายและตรวจแล็บ (ห้องปฏิบัติการ) เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น เพราะบางกรณีก็ไม่จำเป็นต้องตรวจแล็บเลยก็ได้
ที่น่าเป็นห่วงก็คือ สถานพยาบาลส่วนใหญ่มักให้มุ่งประเด็นการตรวจสุขภาพ ด้วยการเน้นความสำคัญกับการตรวจแล็บมากกว่าการชักประวัติอย่างละเอียด จึงทำให้มีคนจำนวนมากเข้าใจผิดคิดว่า การตรวจสุขภาพคือการตรวจหาโรคโดย ตรวจแล็บเป็นหลัก และต้องมุ่งเน้นการรักษาจากหมอเท่านั้น ทำให้ละเลยการดูแลสุขภาพตนเอง
8. ผลจากการตรวจแล็บมั่นใจได้แค่ไหน
แม้ว่าผลของการตรวจแล็บจะน่าเชื่อถือได้ แต่ก็ขออย่าได้มั่นใจการตรวจแล็บ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะก็ยังมีกรณีที่ผลการตรวจแล็บหลายรายการขาดความแม่นยำ ซึ่งหากเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น แพทย์ควรแจ้งให้ผู้ถูกตรวจทราบด้วย ส่วนผลการตรวจแล็บที่ออกมาจะอยู่ 4 ลักษณะ ดังนี้
- ผลลบจริง ไม่เป็นโรค
- ผลบวกจริง เป็นโรค
- ผลลบลวง เป็นโรคแฝงอยู่ แต่ตรวจไม่พบ
- ผลบวกลวง ไม่เป็นโรค แต่ผลการตรวจเบ้องต้นว่าเป็นโรค
ถ้าไปตรวจร่างกายแล้วผลแล็บออกมาว่าเป็นโรค (อาจเป็น “บวกจริง” หรือ “บวกลวง” ก็ได้) แพทย์จึงต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่าเป็นโรคจริง เพื่อจะให้การรักษาได้อย่างเหมาะสม
9. การตรวจสุขภาพมีทั้ง ประโยชน์ และ โทษ
การตรวจสุขภาพจะมีประโยชน์อย่างมาก หากทำอย่างถูกต้องตามหลักการ เพราะโรคบางโรคนั้น หากตรวจพบระยะแรกก็จะรักษาได้ผลดีหรือหายขาดได้ แต่ถ้ามุ่งเน้นการตรวจหาโรคโดยไม่จำเป็นจะมีโทษมากกว่าประโยชน์ เพราะถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคที่ยังไม่มีการพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่ารักษาได้ หรือรักษาระยะแรกไม่ได้ผลดี จะทำให้ผู้รับการตรวจย่อมเกิดความวิตกกังวลได้
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เครื่องมือที่ใช้ตรวจก็ไม่ได้ให้ผลแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์อีกด้วย ซึ่งผลการตรวจที่ออกมานั้น หากตรวจแล้วพบ “ผลลบลวง” ก็จะทำให้ผู้ถูกตรวจชะล่าใจและไม่ปรับพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค ยิ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอีก หรือกรณีที่ตรวจแล้วได้ “ผลบวกลวง” ก็ต้องเจ็บตัว เพราะต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผล ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก อีกทั้ง การตรวจเพิ่มเติมบางอย่างเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วย
10. การตรวจสุขภาพคู่กับการส่งเสริมสุขภาพ
การตรวจสุขภาพที่ถูกต้องนั้นควรมุ่งให้ผู้ถูกตรวจดูแลสุขภาพตนเอง ไม่ใช่การไปพึ่งพาแพทย์ หรือโรงพยาบาล ดังนั้น หลังจากการตรวจสุขภาพแล้ว แพทย์ต้องให้คำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวให้เหมาะสม ดังเช่นคำว่า การส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งหมายความว่า หลังจากทราบผลการตรวจสุขภาพแล้วไม่ป่วย แข็งแรงดี ก็ควรแนะถึงวิธีที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงยิ่งขึ้น หรือผลตรวจสุขภาพของคนที่มีปัจจัยเสี่ยง ก็ควรจะแนะวิธีการที่จะทำให้พวกเขาหันกลับมาดูแลตัวเอง เช่น เดิมไม่ออกกำลังกาย อาจแนะให้เปลี่ยนพฤติกรรมหันมาออกกำลังกายกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เลิกดื่มสุรา เลิกสูบบุหรี่ เป็นต้น รวมถึงบางคนที่ผลการตรวจสุขภาพพบว่าเป็นโรคเบาหวาน การปฏิบัติตัวเพื่อส่งเสริมสุขภาพเหล่านี้ก็จะสามารถคุมน้ำตาลได้ ทำให้ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน หรือพิการ
11. การตรวจสุขภาพตนเองทำอย่างไร
ทุกคนสามารถตรวจสุขภาพตนเองง่าย ๆ เช่น การตรวจว่าตัวเองยังมีพฤติกรรมสุขภาพอะไรที่ไม่เหมาะสม การตรวจวัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนักดูว่าเกินปกติหรืออ้วนไหม ด้วยการวัดเส้นรอบเอว มีวิธีการวัดเส้นรอบเอวตัวเองอย่างง่าย ๆ คือ เริ่มวัดจากแนวสะดือแล้วนำค่าที่ได้หารส่วนสูง
คนปกติจะมีค่าเส้นรอบเอวไม่ เกินครึ่งหนึ่งของส่วนสูง
โดยมาตรฐานแล้ว คนเราควรจะมีค่าเส้นรอบเอวไม่เกินครึ่งหนึ่งของส่วนสูง เช่น คนที่สูง 160 เซนติเมตร เส้นรอบเอวไม่ควรเกิน 80 เซนติเมตร ถ้าเกินกว่านี้แสดงว่าลงพุง มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดสมองตีบตัน
12. การเอกซเรย์ปอด บอกอะไรได้บ้าง
ปัจจุบัน การเอกซเรย์ปอดเป็นวิธีการหนึ่งในการตรวจวินิจฉัยวัณโรคปอด ร่วมกับการตรวจเสมหะสำหรับผู้ที่มีอาการน่าสงสัย เช่น ไอเรื้อรัง หรือผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น อาศัยอยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรค บุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยวัณโรค เป็นต้น
แต่การเอกซเรย์ปอดไม่เหมาะกับการตรวจสุขภาพของคนทั่วไปที่ไม่มีอาการหรือไม่มีความเสี่ยงใด ๆ เพราะการตรวจคัดกรองในคนที่ไม่มีอาการ หรือความเสี่ยงใด ๆ นั้นไม่ทำให้เกิดประโยชน์ ไม่มีความคุ้มค่า และยังเพิ่มความเสี่ยงจากการได้รับรังสี ซึ่งอาจก่อให้เกิดมะเร็งได้
สำหรับกรณีของโรคมะเร็งปอด การเอกซเรย์ปอดจะตรวจพบโรคนี้ได้ในระยะท้าย ๆ ซึ่งตรวจพบแล้วก็กลับทำให้ไม่เกิดประโยชน์ต่อการรักษาแล้ว ดังนั้น ควรมุ่งเน้นที่การป้องกันโดยการไม่สูบบุหรี่ (ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด) เป็นสำคัญ
13. โรคมะเร็งกับการตรวจสุขภาพ
คนส่วนใหญ่เมื่อได้ยินคำว่า “มะเร็ง” ก็มักจะเกิดความรู้สึกตระหนก ตกใจกลัว และวิตกกังวลถึงขนาดกินไม่ได้ นอนไม่หลับ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก
ขอเริ่มที่ “มะเร็งปากมดลูก”ก่อน
ผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ ด้วยวิธีที่เรียกว่า “แปปสเมียร์” (Pap smear) โดยให้ตรวจอย่างสม่ำเสมอทุก 5 ปี ตั้งแต่อายุ 30-60 ปี หรือเมื่อเริ่มมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากหากตรวจพบโรคในระยะเริ่มแรกจะช่วยให้สามารถรักษาได้ผลดีหรือหายขาด
สำหรับ “มะเร็งเต้านม” นั้น ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าการคลำเต้านมลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เพราะก้อนมะเร็งที่คลำได้มักเป็นมะเร็งระยะลุกลามแล้ว การตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมนั้น มีข้อแนะนำให้ผู้หญิงตรวจตั้งแต่อายุ 45 ปี หรือ 50 ปี ตรวจทุก 3 ปี ไปจนถึงอายุ 70 ปี
มะเร็งต่อมลูกหมาก โดยทั่วไปถือว่าเป็นมะเร็งที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยหลายรายไม่ได้เสียชีวิตจากมะเร็งชนิดนี้ จึงไม่แนะนำให้ตรวจเลือด เพื่อค้นหาโรคนี้ที่ไม่มีอาการ เพราะมีโอกาสตรวจพบ “ผลบวกลวง” มาก ซึ่งเมื่อมี “ผลบวก” ส่วนใหญ่เป็นผลบวกลวง ก็จะมีส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แพทย์จึงจำเป็นต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติมก็อาจเกิดโทษ และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออก ติดเชื้อเข้ากระแสเลือด หรือการเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในประชากรทั่วไป
สรุป ขั้นตอนการตรวจสุขภาพเบื้องต้นที่เราควรรู้ไว้
- มีการซักประวัติ เพื่อประเมินหาปัจจัยเสี่ยง
- เข้ารับการตรวจร่างกาย โดยแบ่งเป็นตรวจทั่วไปและตรวจตามปัจจัยเสี่ยง
- เข้าตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ตรวจแล็บ) โดยเลือกตรวจตามปัจจัยเสี่ยง
- แพทย์ทำการประเมินปัจจัยเสี่ยง แก้ไขหรือรักษาโรค
- แพทย์ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว เปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ
ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสุขภาพระดับชาติ ซึ่งหน่วยงานนี้ต้องมีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ แนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม มีการตรวจสอบควบคุมมาตรฐาน และติดตามการดำเนินงานในการตรวจสุขภาพของภาครัฐและเอกชนรวมทั้งให้ความรู้หรือคำปรึกษาแก่ประชาชนด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากเพจ http://health.kapook.com/
สนใจขอรับบริการตรวจสุขภาพกับทาง Medical line lab สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากช่องทางดังนี้
เบอร์โทรศัพท์: 02-374-9604
Line: https://page.line.me/259wtcig?openQrModal=true
Contact us: https://www.medicallinelab.co.th/ติดต่อสอบถาม/
Website: https://www.medicallinelab.co.th/
Facebook: https://www.facebook.com/MLLmedicallinelab
Email: info@medicallinelab.co.th