โรคที่มากับหน้าฝน พร้อมข้อมูลวิธีป้องกันและรับมือกับทุกโรคที่มาในช่วงฤดูฝน

เมื่อฤดูกาลเปลี่ยน สภาพอากาศย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตาม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศร้อนสลับกับฝนตกของประเทศไทยนี้เองที่ทำให้เกิดโรคติดต่อและภัยสุขภาพต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นเนื่องจากเชื้อโรคเติบโตได้ไวขึ้น ประกอบกับภูมิคุ้มกันในร่างกายที่อาจลดลง ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น โดยกลุ่มโรคที่มากับหน้าฝนเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มโรคที่มีการรายงานการระบาดมากที่สุดในช่วงฤดูฝนของประเทศไทย เราทุกคนจึงควรทำความรู้จักกับโรคเหล่านี้เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันดูแลสุขภาพตนเองให้ห่างไกลจากโรคดังกล่าว

 

กลุ่มโรคทางเดินหายใจ

  • โรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่ คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้ออินฟลูเอนซาไวรัส (Influenza Virus) ในระบบทางเดินหายใจ มีทั้งหมด 3 ชนิด คือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A, B และ C พบได้ในผู้ป่วยทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก พบการระบาดมากที่สุดในช่วงฤดูฝน รวมถึงฤดูหนาวของทุกปี

สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้ออินฟลูเอนซาไวรัส ซึ่งติดต่อผ่านการหายใจหรือสัมผัสกับน้ำลาย น้ำมูก ละอองฝอยที่ปะปนเชื้อจากการไอ จามของผู้ป่วย แล้วนำมาสัมผัสที่จมูก ตา หรือปาก

อาการ

มีไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ตาแดง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

วิธีป้องกัน

ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีคนพลุกพล่าน แออัด อากาศไม่ถ่ายเท หากจำเป็น ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการรับเชื้อ และเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงก่อนเข้าฤดูฝนเพื่อป้องกันความรุนแรงของโรค

 

  • โรคหลอดลมอักเสบ

โรคหลอดลมอักเสบ คือ ภาวะการอักเสบของเยื่อบุภายในหลอดลม ทำให้ต่อมเมือกหลั่งเมือกออกมามากผิดปกติและมีขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดกั้นช่องทางเดินหลอดลม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ มีเสมหะเหนียวข้น และมีอาการหอบเหนื่อย

สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับเชื้อไข้หวัดใหญ่และไข้หวัด รวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือการสัมผัสสิ่งระคายเคือง เช่น ฝุ่นละออง ควันบุหรี่ สารเคมี

อาการ

มีไข้ต่ำ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ไอแบบไม่มีเสมหะหรือมีเสมหะเล็กน้อยในช่วงต้น และมีเสมหะมากขึ้นในระยะหลัง หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียจะมีเสมหะข้นสีเขียวหรือเหลือง

วิธีป้องกัน

ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำอุ่น ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายให้เพียงพอ เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และหลีกเลี่ยงสารระคายเคือง เช่น ฝุ่นละออง ควัน ควันบุหรี่ สารเคมี ซึ่งอาจทำให้อาการแย่ลงได้

 

  • โรคปอดอักเสบ และปอดบวม

โรคปอดอักเสบและปอดบวมเกิดจากการติดเชื้อบริเวณระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง โดยโรคปอดอักเสบแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ โรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อและโรคปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ทั้งนี้ โรคปอดอักเสบและปอดบวมจัดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และยังมีแนวโน้มว่าพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)

สาเหตุ

เกิดจากการสัมผัสกับอากาศแปรปรวนหรืออากาศชื้น การสัมผัสผู้ติดเชื้อ สารคัดหลั่ง เลือด รวมถึงการหายใจเอาเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่ลอยปะปนในอากาศจากการไอ จามของผู้ป่วยเข้าสู่ร่างกาย

อาการ

มีไข้สูง ไอ มีเสมหะ หนาวสั่น อ่อนเพลีย หายใจหอบเหนื่อย หากมีอาการรุนแรงจะมีภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้

วิธีป้องกัน

ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ หากเป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ควรรีบรักษาให้หายโดยเร็วเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบเพื่อลดความรุนแรง

 

กลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ

  • โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่พบได้บ่อยได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ซึ่งมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ มีช่วงระบาดสูงสุดในเดือนกรกฎาคมของทุกปี พบได้ในผู้ป่วยทั้งเพศหญิงและเพศชาย ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัสโดยมียุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรค โดยยุงตัวเมียจะกัดและดูดเลือดผู้ป่วยและถ่ายทอดเชื้อให้บุคคลอื่น ๆ ที่ถูกกัดต่อไป

อาการ

มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก มีจุดแดงขึ้นตามผิวหนัง ตับโต กดเจ็บบริเวณชายโครงด้านขวา หากมีอาการรุนแรงจะพบภาวะช็อก เลือดออกในอวัยวะภายใน การไหลเวียนของเลือดล้มเหลว ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลาอาจเสียชีวิตได้

วิธีป้องกัน

หลีกเลี่ยงการโดนยุงกัด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย สวมเสื้อผ้ามิดชิด ใช้ยาฉีดป้องกันยุงลาย เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาแล้ว เนื่องจากหากกลับมาเป็นซ้ำจะมีอาการรุนแรงขึ้น

 

  • โรคมาลาเลีย

โรคมาลาเลีย หรือโรคไข้จับสั่นป่า ไข้ป่า ไข้ดง ไข้ป้าง เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวที่มีชื่อว่า พลาสโมเดียม (Plasmodium) ที่ทำให้เกิดโรคในคน ซึ่งอาศัยอยู่ในเลือด โดยมียุงก้นปล่องเพศเมียเป็นพาหะนำโรค พบมากตามป่าเขาที่มีแหล่งน้ำ แนวชายแดน ถิ่นทุรกันดาร

สาเหตุ

เริ่มต้นจากยุงก้นปล่องกัดผู้ป่วยที่มีเชื้อมาลาเรียและกลายเป็นพาหะไปกัดบุคคลอื่น โดยถ่ายทอดเชื้อผ่านทางต่อมน้ำลายเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ ทำให้ระบาดได้ง่าย

อาการ

มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อาจพบภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น อาการซีด ตาเหลือง ตัวเหลือง เชื้อขึ้นสมอง ระบบการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ไตวาย ตับโต ม้ามโต ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

วิธีป้องกัน

หลีกเลี่ยงการโดนยุงกัดโดยการสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด ปิดประตูหน้าต่างให้เรียบร้อย กำจัดแหล่งลูกน้ำหรือแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ทายากันยุง ใช้ยาจุดกันยุง หรือหากต้องค้างแรมในป่า ควรนอนในมุ้งป้องกันยุง

 

  • โรคไข้สมองอักเสบ เจอี

โรคไข้สมองอักเสบ เจอี คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเจอี (Japanese Encephalitis Virus) โดยมียุงรำคาญเป็นพาหะนำโรค พบการแพร่ระบาดในภาคเหนือช่วงฤดูฝน โดยโรคนี้จะทำให้เกิดการอักเสบของระบบสมองส่วนกลาง หากผู้ป่วยอยู่ในช่วง 0-4 ขวบจะเพิ่มโอกาสเสียชีวิตหรือพิการทางสมองสูงมาก ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะ ทำได้เพียงรักษาตามอาการ แต่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน

สาเหตุ

เกิดได้จากเชื้อไวรัสหลายชนิด แต่ที่พบในไทยคือเชื้อไวรัสเจอี โดยมีพาหะของโรคคือยุงรำคาญที่มักแพร่พันธุ์ในนาข้าว

อาการ

มีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง อ่อนเพลีย อาเจียน ซึม ชัก หากมีอาการรุนแรงอาจหมดสติ เป็นอัมพาตครึ่งซีก และส่งผลให้เสียชีวิตได้

วิธีป้องกัน

กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ระวังไม่ให้ถูกยุงกัด และเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ เจอี

 

  • โรคไข้ปวดข้อยุงลาย

โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya Virus) ที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศแทนซาเนีย พบได้ในผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย ส่วนในประเทศไทยพบมากในแถบภาคใต้

สาเหตุ

เกิดจากการรับเชื้อไวรัสผ่านยุงลายบ้าน และยุงลายสวนที่พบได้บ่อยในบริเวณที่มีต้นไม้หนาแน่น

อาการ

อาการคล้ายโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้ ผื่นแดง ตาแดง ปวดข้อ ข้อมือ ข้อเท้า ข้อต่อแขนขาบวมแดง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา โดยอาการจะเริ่มทุเลาใน 1-12 สัปดาห์

วิธีป้องกัน

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคชิคุนกุนยา วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันจึงเป็นการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยการแต่งกายให้มิดชิด ใช้ยาทากันยุง ติดตั้งอุปกรณ์กันยุง

 

 

  • โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า

โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า เกิดจากไวรัสซิก้า (Zika Virus) ในตระกูลฟลาวิไวรัสเช่นเดียวกับไวรัสเด็งกี่ ไวรัสไข้เหลือง ไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี โดยมียุงลายเป็นพาหะ ซึ่งหากถูกยุงที่มีเชื้อไวรัสซิก้ากัด ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้

สาเหตุ

เกิดจากการโดนยุงลายที่มีเชื้อกัด รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ การถ่ายเลือด การติดเชื้อของมารดาสู่ทารกในครรภ์

อาการ

ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง อาจมีไข้ต่ำ มีผื่นแดงบริเวณลำตัวและแขนขา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และอุจจาระร่วง หากมีการติดเชื้อในสตรีตั้งครรภ์จะทำให้ทารกมีภาวะศีรษะเล็ก พัฒนาการช้า ตัวเล็กผิดปกติ หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้

วิธีป้องกัน

ทำได้เช่นเดียวกับการป้องกันโรคไข้เลือดออก คือ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันไม่ให้ยุงกัด สวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด ใช้ยาจุดกันยุงหรือยาฉีดยุง และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ

กลุ่มโรคติดต่อทางน้ำและอาหาร

  • โรคตับอักเสบ

โรคตับอักเสบ คือ ภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณตับ ทำให้เซลล์ตับถูกทำลาย โรคตับอักเสบชนิดที่พบบ่อยในประเทศไทย คือ ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ บี และซี หากเป็นตับอักเสบแล้วไม่เข้ารับการรักษา จะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังตามมา และอาจนำไปสู่การเป็นโรคมะเร็งตับได้

สาเหตุ

สาเหตุที่พบได้บ่อยเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบจากการปนเปื้อนเชื้อในอาหารและน้ำ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก การใช้สารเสพติด ผลข้างเคียงจากการใช้ยา การได้รับสารพิษ หรือสาเหตุอื่น ๆ

อาการ

อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ เบื่ออาหาร ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม จุกแน่นใต้ชายโครงขวา ร่วมกับการมีคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย

วิธีป้องกัน

ดื่มน้ำสะอาด ทานอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง ไม่ใช้เข็ม มีดโกน แปรงสีฟันร่วมกับผู้อื่น สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และเข้ารับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ

 

  • โรคอหิวาตกโรค

โรคอหิวาตกโรคคือโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดเฉียบพลันในระบบทางเดินอาหาร มักพบการระบาดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ชุมชนแออัด รวมถึงพื้นที่ที่ไม่มีน้ำสะอาดใช้อย่างพอเพียงหรือมีระบบการสุขาภิบาลที่ไม่มีคุณภาพ เช่น พื้นที่ที่มีการทิ้งขยะเกลื่อนกลาด ร้านอาหารที่ไม่สะอาด

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า วิบริโอ คอเลอรี (Vebrio Cholerae) ซึ่งสามารถติดต่อได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม คือ ติดต่อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย การใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย และผ่านแมลงวัน การทานอาหาร หรือการดื่มน้ำที่มีเชื้อที่มีชีวิตปะปนอยู่

อาการ

ความรุนแรงของโรคพบได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนกระทั่งถึงอาการรุนแรงมาก อาการทั่วไปคือถ่ายอุจจาระเป็นน้ำหรืออุจจาระเป็นสีขาวขุ่นเหมือนน้ำซาวข้าวโดยไม่มีอาการปวดท้อง อาจมีคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย บางรายเกิดภาวะเป็นกรดในเลือดและการไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจากการสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็ว หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

วิธีป้องกัน

ดื่มน้ำที่สะอาด ผ่านการต้มสุก รับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ ถูกหลักอนามัย ไม่รับประทานอาหาร ที่มีแมลงวันตอม หมั่นล้างมือให้สะอาดโดยเฉพาะก่อนการรับประทานอาหาร หลังรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ กำจัดแมลงวัน ซึ่งเป็นพาหะของโรค และเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค

 

  • โรคอาหารเป็นพิษ

โรคอาหารเป็นพิษ คือ ภาวะที่เกิดจากรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย พบได้ในผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่เป็นภาวะที่ไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง

สาเหตุ

เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปะปนเชื้อ เช่น เชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) เชื้ออีโคไล (E.Coli) เชื้อคลอสติเดียม โบทูลินัม (Clostridium Botulinum) เชื้อชิเกลล่า (Shigella) หรือไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหารอื่น ๆ

อาการ

มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดท้องบิดเกร็ง พะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ถ่ายอุจจาระเกินวันละ 3 ครั้ง และมีอาการสูญเสียน้ำ เช่น ปากแห้ง เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย กระหายน้ำ

วิธีป้องกัน

เลือกทานอาหารที่ปรุงสุก สดใหม่ หลีกเลี่ยงอาหารที่เสียง่าย กึ่งสุกกึ่งดิบ และอาหารค้างคืน ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ดื่มน้ำสะอาด ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น

 

  • โรคแลปโตสไปโรซิส หรือ โรคฉี่หนู

โรคแลปโตสไปโรซิส หรือที่เรียกกันติดปากว่า โรคฉี่หนู คือ โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนโดยมีน้ำฝนเป็นตัวนำเชื้อโรค สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ต้องสัมผัสกับดินและน้ำเป็นประจำ

สาเหตุ

เกิดจากการสัมผัสกับเชื้อแลปโตสไปราที่ถูกขับออกมากับปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น หนู สุกร สุนัข ซึ่งมักไหลมารวมกันบริเวณที่มีน้ำขัง ดินโคลน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ และติดต่อผ่านการเดินย่ำ แช่ในน้ำท่วมขัง หรือลงว่ายน้ำ แล้วรับเชื้อผ่านรอยแผล รอยขีดข่วน เยื่อบุปาก ตา หรือจมูก

อาการ

ไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อน่อง หากมีอาการรุนแรง อาจพบว่ามีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ไตวายเฉียบพลัน อาเจียนเป็นเลือด ไอเป็นเลือด อุจจาระเป็นสีดำ ระบบประสาทผิดปกติ ระบบหายใจล้มเหลว จนถึงขั้นเสียชีวิตได้

วิธีป้องกัน

รักษาสุขอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าในพื้นที่ชื้นแฉะหรือสัมผัสกับแหล่งน้ำขัง หากจำเป็น ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน รองเท้าบูท ถุงมือยาว และรีบชำระล้างร่างกายทันทีโดยเฉพาะในช่วงระบาดของโรค

 

  • โรคท้องเดิน

โรคท้องเดินหรือโรคท้องร่วง คือ ภาวะที่มีการขับถ่ายเหลวผิดปกติ ส่วนใหญ่เกิดจากการรับเชื้อโรต้าไวรัส (Rotavirus) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์เข้าสู่ร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมน้ำหรือสารอาหารได้

สาเหตุ

เกิดจากการรับเชื้อไวรัสผ่านการทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อน หรือสัมผัสกับเชื้อหรือสารคัดหลั่งและเข้าสู่ร่างกายผ่านทางปาก มีพยาธิในลำไส้ หรือการรับสารพิษ เช่น ตะกั่ว สารหนู หรือการรับประทานพืชที่มีพิษ เช่น เห็ดพิษ กลอย เป็นต้น

อาการ

ถ่ายเหลวตั้งแต่วันละ 3 ครั้งขึ้นไป ถ่ายเป็นมูกเลือด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องรุนแรง แน่นท้อง มีไข้สูง ปวดเมื่อยตัว หน้ามืด เป็นลม หรือหมดสติ

วิธีป้องกัน

รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ทำสดใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำต้มสุก ล้างผักหรือผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสะอาดและสบู่ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารหรือหลังเข้าห้องน้ำ

 

  • โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน

โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน คือ ภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการรับเชื้อโรต้าไวรัส (Rotavirus) โนโรไวรัส (Norovirus) แบคทีเรีย โปรโตซัว พยาธิ ฯลฯ โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและเป็นอยู่ไม่นานเกิน 2 สัปดาห์

สาเหตุ

เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิตปนเปื้อน

อาการ

ถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ บางรายอาจถ่ายเป็นมูก มีเลือดปน หรือเป็นสีขาวขุ่นคล้ายน้ำซาวข้าว ร่วมกับมีอาการปวดท้องแบบบิดเกร็ง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ปวดศีรษะ และมีอาการขาดน้ำ เช่น เวียนศีรษะ หน้ามืด ปากแห้ง กระหายน้ำ ชีพจรเต้นเร็ว

วิธีป้องกัน

เลือกทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ล้างผักผลไม้ก่อนรับประทาน หมั่นล้างมือให้สะอาด ไม่ว่าจะเป็นก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังการเข้าห้องน้ำ เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู หรือสัตว์รบกวนอื่น ๆ ดื่มนำสะอาดและใช้น้ำสะอาดในการปรุงอาหาร

 

  • โรคบิด

โรคบิด คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มชิเกลลา (Shigella) หรือการติดเชื้ออะมีบาในลำไส้ ซึ่งก่อให้เกิดอาการท้องเสียชนิดมีเลือดหรือมูกปน

สาเหตุ

เกิดจากการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือได้รับเชื้อผ่านการทานอาหาร ดื่มน้ำที่ไม่สะอาดหรือไม่ถูกสุขลักษณะ รวมถึงเกิดจากแมลงวันที่เป็นพาหะนำโรค

อาการ

ท้องเสียอย่างรุนแรง ถ่ายเป็นเลือดหรือมีมูกร่วมด้วย ปวดท้องแบบบีบเกร็ง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้สูง มีอาการสูญเสียน้ำ อาจพบภาวะแทรกซ้อนหรือติดเชื้อ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วก็อาจจะทำให้อาการรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้

วิธีป้องกัน

ล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่และน้ำสะอาดก่อนการประกอบหรือรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย เลือกทานอาหารปรุงสุกสดใหม่ ดื่มน้ำต้มสุก หลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้หรือผักดิบ หากจำเป็นควรล้างให้สะอาดก่อนรับประทาน

 

กลุ่มโรคติดเชื้อทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง

  • โรคแลปโตสไปโรซิส หรือ โรคฉี่หนู

โรคแลปโตสไปโรซิส หรือที่เรียกกันติดปากว่า โรคฉี่หนู คือ โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนโดยมีน้ำฝนเป็นตัวนำเชื้อโรค สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ต้องสัมผัสกับดินและน้ำเป็นประจำ

สาเหตุ

เกิดจากการสัมผัสกับเชื้อแลปโตสไปราที่ถูกขับออกมากับปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น หนู สุกร สุนัข ซึ่งมักไหลมารวมกันบริเวณที่มีน้ำขัง ดินโคลน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ ติดต่อผ่านการเดินย่ำ แช่ในน้ำท่วมขัง หรือลงว่ายน้ำ แล้วรับเชื้อผ่านรอยแผล รอยขีดข่วน เยื่อบุปาก ตา หรือจมูก

อาการ

ไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อน่อง หากมีอาการรุนแรง อาจพบว่ามีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ไตวายเฉียบพลัน อาเจียนเป็นเลือด ไอเป็นเลือด อุจจาระเป็นสีดำ ระบบประสาทผิดปกติ ระบบหายใจล้มเหลว จนถึงขั้นเสียชีวิตได้

วิธีป้องกัน

รักษาสุขอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าในพื้นที่ชื้นแฉะหรือสัมผัสกับแหล่งน้ำขัง หากจำเป็น ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน รองเท้าบูท ถุงมือยาว และรีบชำระล้างร่างกายทันทีโดยเฉพาะในช่วงระบาดของโรค

 

  • โรคตาแดง

โรคตาแดงเป็นโรคที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน เนื่องจากสามารถติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็ว มักเกิดในโรงเรียนและสถานเลี้ยงเด็ก จึงมักพบในกลุ่มผู้ป่วยเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มักหายได้เองภายใน 1-3 สัปดาห์

สาเหตุ

เกิดจากการสัมผัสกับเชื้อโรค เช่น ขี้ตาหรือน้ำตาของผู้ป่วยโดยตรง หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน รวมถึงการรับเชื้อผ่านการหายใจหรือไอจามรดกัน

อาการ

ตาแดง ปวดเบ้าตา คันตา เคืองตา น้ำตาไหล เปลือกตาบวม ในกรณีที่ติดเชื้อแบคทีเรีย จะมีขี้ตามาก บางรายอาจพบการบวมของเยื่อตาร่วมด้วย และเมื่อพลิกดูบริเวณเปลือกตาด้านในจะพบเม็ดใส ๆ กระจายอยู่ทั่วไป

วิธีป้องกัน

หมั่นล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือขยี้ตา ไม่ใช้ผ้าเช็ดตัว ปลอกหมอน ผ้าห่ม ร่วมกับผู้ป่วยโรคตาแดง

 

  • โรค มือ เท้า ปาก

โรคมือ เท้า ปาก คือ โรคติดต่อชนิดหนึ่งที่พบได้ตลอดทั้งปีและมีการระบาดเป็นประจำในฤดูฝน พบมากในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กตามโรงเรียนอนุบาลและสถานรับเลี้ยงเด็ก แต่สามารถพบในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน แต่จะพบได้น้อยกว่า และอาการจะไม่รุนแรงเท่าในเด็กเล็ก เมื่อเป็นแล้วก็สามารถเป็นซ้ำได้

สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enteroviruses) ซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ผ่านการรับไวรัสเข้าสู่ร่างกาย ทั้งการสัมผัสน้ำลาย น้ำมูก น้ำในตุ่มพอง แผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย รวมถึงการสัมผัสกับของเล่นหรือภาชนะที่ใช้ร่วมกันกับผู้ป่วย

อาการ

มีไข้สูง มีตุ่มน้ำใส ผื่น บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ในปาก และก้น โดยอาการจะดีขึ้นภายใน 7-10 วัน บางรายอาจมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ น้ำท่วมปอด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือหัวใจล้มเหลว

วิธีป้องกัน

ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสะอาดและสบู่ ดูแลความสะอาดของน้ำดื่มและอาหาร หลีกเลี่ยงไปอยู่ในสถานที่แออัดในช่วงการระบาด หมั่นสังเกตความผิดปกติในเด็กในช่วงฤดูกาลระบาด หากพบว่าเด็กมีอาการผิดปกติ ควรรีบแยกเด็กออกจากเด็กคนอื่น ๆ ทันทีและเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

วิธีป้องกันโรคในช่วงหน้าฝน

  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง

หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้แห้งและอบอุ่นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

  • ล้างมือบ่อย ๆ

ล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 15-20 วินาที หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งหลังสัมผัสกับสิ่งของที่มีการสัมผัสบ่อย ๆ เช่น ลูกปิดประตู ปุ่มกดลิฟต์ โดยเฉพาะก่อนการรับประทานอาหาร ก่อนเตรียมอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ

  • สวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด

ดูแลร่างกายให้อบอุ่นในช่วงฤดูฝนหรือเมื่อากาศเปลี่ยนแปลง สวมเสื้อผ้าที่มิดชิด โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในพื้นที่ป่า ควรสวมใส่เสื้อผ้าแขนขายาว ทาโลชั่นกันยุงที่มีองค์ประกอบของ DEET

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำที่ปนเปื้อน

หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหรือน้ำแข็งที่ไม่สะอาด ไม่ใช้หลอดดูดน้ำ แก้วน้ำ ช้อนส้อม หรือข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย ใช้ภาชนะใส่อาหารและน้ำดื่มที่ล้างสะอาด

  • ทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่

รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม หากอาหารมีกลิ่น รส สี หรือรูปเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทานต่อ ล้างวัตถุดิบให้สะอาดก่อนนำมาปรุงประกอบอาหาร

  • เก็บอาหารให้มิดชิด

จัดเก็บอาหาร ผักสด ผลไม้ในภาชนะที่สะอาด ปิดสนิท แยกเป็นสัดส่วน เพื่อป้องกันแมลง แมลงวัน หนู แมลงสาบ หรือสัตว์รบกวนอื่น ๆ ซึ่งเป็นพาหะนำโรคได้

 

Ref:

https://ddc.moph.go.th/uploads/files/3479820230614034240.pdf

https://www.tropmedhospital.com/knowledge/japanese-encephalitis.html

https://www.tropmedhospital.com/knowledge/acute_diarrhea_intro.html

 

สนใจขอรับบริการตรวจสุขภาพกับทาง Medical line lab สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากช่องทางดังนี้

เบอร์โทรศัพท์: 02-374-9604

Line: https://page.line.me/259wtcig?openQrModal=true

Contact us: https://www.medicallinelab.co.th/ติดต่อสอบถาม/

Website: https://www.medicallinelab.co.th/

Facebook: https://www.facebook.com/MLLmedicallinelab

Email: info@medicallinelab.co.th

Scroll to Top