โรคติดต่อป้องกันได้ ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เอาตัวรอดในยุค Covid-19

โรคติดต่อป้องกันได้ ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เอาตัวรอดในยุค Covid-19

แม้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยจะมีภาพรวมที่ดีขึ้นมากหากดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดน้อยลงตามลำดับและมาตรการผ่อนผันจากภาครัฐที่อนุญาตให้ธุรกิจบางประเภทกลับมาเปิดทำการได้ตามปกติ ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยเริ่มเดินทางและออกสู่ที่สาธารณะกันมากขึ้นอย่างสังเกตได้ แต่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ดูเหมือนน่าปลอดภัยเช่นนี้ ก็ยังมีความไม่น่าไว้วางใจแฝงอยู่มาก เพราะเพียงแค่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลงไม่สามารถรับประกันได้ว่าการระบาดของโรคนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก

สำหรับโรคระบาดที่น่ากังวลในประเทศไทยเองในขณะนี้นั้นก็ไม่ได้มีเพียงแต่โรคโควิด-19 เท่านั้น เมื่อย่างเข้าฤดูฝน ยังมีโรคติดต่อตามฤดูกาลอีกโรคหนึ่งที่มักระบาดขึ้นนั่นก็คือโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) หลากหลายสายพันธุ์ สำหรับสายพันธุ์ที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ ชนิด H1N1 และ H3N2 และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี สถิติจากกรมควบคุมโรคพบว่าสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในปี พ.ศ. 2562 มีรายงานผู้ป่วยมากถึง 390,733 ราย และมีผู้เสียชีวิตถึง 27 ราย ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคหัวใจ เบาหวาน โรคปอด ยังมีอัตราการเสียชีวิตจากทั้งโรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19 มากกว่าคนปกติอีกด้วย

ผู้หญิงกำลังจาม

คนส่วนมากมักสับสนระหว่างโรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่เนื่องจากการแสดงอาการที่คล้ายกัน โดยผู้ป่วยโรคโควิด-19 มักมีไข้สูงนานหลายวัน มีอาการเหนื่อยล้า ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียในบางราย หรือปอดอักเสบในรายที่มีความรุนแรง ส่วนในไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงติดกันหลายวัน มีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ไอรุนแรง เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย และอาจมีน้ำมูกร่วมด้วย จะเห็นได้ว่าทั้งสองโรคนี้สร้างความผิดปกติให้กับระบบทางเดินหายใจเหมือนกันและมีอาการคล้ายกันหลายประการ อย่างไรก็ดี ทั้งโรคโควิด-19 และโรคไข้หวัดใหญ่นั้นเกิดจากเชื้อไวรัสที่ต่างชนิดกัน ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะระบุโรคได้เพียงแค่ตามสังเกตอาการเพียงอย่างเดียว วิธีที่ดีที่สุดในการบ่งชี้โรคจึงเป็นการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ

ผู้ชายกับผู้หญิงดูท่าทางจะเป็นหวัด

แม้การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรงได้ แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าจะเป็นเกราะป้องกันโรคได้เสมอไป เพราะความเสี่ยงเกิดได้จากการสัมผัสเชื้อโรคต่าง ๆ ที่ปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อม การสัมผัสกับพื้นผิว สิ่งของสาธารณะ การรับเชื้อจากละอองฝอยจากร่างกายมนุษย์ล้วนแต่เป็นช่องทางที่ทำให้เชื้อโรคสามารถเดินทางเข้าสู่ร่ายกายได้และสามารถเกิดได้กับทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ดังนั้น เมื่อมีอาการเข้าข่าย เช่น อาการไอ จาม หายใจหอบ เหนื่อย มีไข้สูง หมดแรงหลังจากใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยงหรือการเดินทางไปยังสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ก็อย่านิ่งนอนใจ เพราะเราอาจรับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้โดยไม่รู้ตัว โดยผู้ที่มีอาการผิดปกติสามารถเลือกตรวจคัดกรองโรคได้ทันทีด้วยวิธีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันทางเลือดที่เป็นมาตรฐานสากลที่เรียกกันว่า “RT-PCR” (Reverse Transcription Polymerase Chain Reaction) วิธีนี้ได้รับการรับรองจากองค์กรอนามัยโลก (WHO) ว่าเป็นวิธีที่มีความจำเพาะสูง ใช้เวลาในการวิเคราะห์ผลการตรวจไม่นาน และสามารถตรวจวิเคราะห์ได้ดี ดังนั้น วิธีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยเทคนิค RT-PCR จึงเป็นวิธีที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการระบุโรคเพื่อที่ผู้ป่วยจะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังอาจพิจารณารับการฉีดป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งร่วมด้วยเพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อโรคมากขึ้น ซึ่งไข้หวัดใหญ่เองก็มีการวิวัฒนาการทางสายพันธุ์อย่างต่อเนื่องในแต่ละปี การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปีจะช่วยป้องกันโรคได้ตรงตามสายพันธุ์ที่กำลังระบาด โดยควรจะฉีดช่วงก่อนจะเริ่มมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่อย่างฤดูฝน (เดือนมิถุนายนถึงตุลาคม) และฤดูหนาว (เดือนมกราคมถึงมีนาคม)

สำหรับในปัจจุบันที่โรคระบาดเป็นสิ่งใกล้ตัวมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะกับโรคโควิด-19 และโรคไข้หวัดใหญ่ที่กำลังจะระบาดในเวลาอันใกล้นี้ แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีวัคซีนหรือวิธีการรักษาโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ ที่จะปฏิบัติได้ก็เห็นจะเป็นการดูแลตนเองและหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง แต่สำหรับไข้หวัดใหญ่ การสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะทุกวันนี้ได้มีการพัฒนาวัคซีนให้ทันต่อโรค เราจึงสามารถหลีกเลี่ยงการติดโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน ความเสี่ยงในการติดโรคโควิด-19 และยังช่วยป้องกันความสับสนระหว่างทั้งสองโรคได้อีกทางหนึ่ง

 

หากใครยังไม่ทราบวิธีการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย สามารถอ่านได้ที่บทความ วิธีสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายง่ายๆ ที่คุณก็สามารถทำเองได้

 

สอบถามข้อมูลบริการการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ บริการตรวจโรคโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR หรือบริการตรวจสุขภาพอื่น ๆ ได้ที่

เบอร์โทร:  02-374-9604-5

Hotline: 080-9411240, 080-2718365

Website: https://www.medicallinelab.co.th/

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก:

  • “โควิด-19” VS “ไข้หวัดใหญ่” VS “ปอดอักเสบ” แตกต่างกันอย่างไร?

https://www.sanook.com/health/21601/

  • COVID-19 VS ไข้หวัดใหญ่ อาการต่างกันอย่างไร?

www.khonkaenram.com/th/services/health-information/health-articles/covid-19-vs-influenza

  • “ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่”

http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20161218145555.pdf

  • กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนให้ระวังป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงฤดูหนาวนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงควรดูแลเป็นพิเศษ แนะยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด”

https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=10965&deptcode=brc&news_views=1382

Scroll to Top