นับเป็นเวลาเกือบ 5 ปีแล้วที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในขณะเดียวกันก็มีการพบการกลายพันธุ์ไปตามสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่จนเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ ๆ สำหรับประเทศไทยเองก็มีการรับเชื้อโควิดกลายพันธุ์เข้ามาจากที่ต่าง ๆ และมีการแพร่ระบาดอยู่หลากหลายสายพันธุ์ แม้จะผ่านการระบาดครั้งใหญ่ไปแล้ว แต่เรายังคงพบการติดเชื้ออยู่เรื่อย ๆ จนประเทศไทยได้ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ศูนย์การตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ เมดิคอลไลน์ แล็บ จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักและอัปเดตสายพันธุ์โควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดในประเทศไทยล่าสุด พร้อมอาการเบื้องต้นของแต่ละสายพันธุ์
อัปเดต 'สายพันธุ์โควิด-19' ในไทย 2567
-
สายพันธุ์ S (Serine)
รหัสไวรัส: S
โควิดสายพันธุ์ S (Serine) หรือ สายพันธุ์อู่ฮั่น เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน โดยระบาดระลอกแรกในไทยเดือนมีนาคม 2563 จากคลัสเตอร์สนามมวยที่ลุมพินี ราชดำเนิน และอ้อมน้อย
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์ S
- มีไข้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- ไอแห้ง ไอต่อเนื่อง
- หอบเหนื่อย
- หายใจลำบาก
- อ่อนเพลีย
- การรับรสหรือได้กลิ่นผิดปกติ
-
สายพันธุ์อัลฟ่า (Alpha)
รหัสไวรัส: B.1.1.7
โควิดสายพันธุ์อัลฟ่า หรือ สายพันธุ์อังกฤษ พบครั้งแรกที่เมืองเคนต์ในประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 ก่อนจะเข้ามาระบาดในประเทศไทยเมื่อต้นเดือนมกราคม 2564 และแพร่ระบาดอย่างหนักจากคลัสเตอร์ทองหล่อ ปัจจุบันเป็นสายพันธ์ุหลักที่ระบาดไปแล้วกว่า 138 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากสายพันธุ์นี้แพร่กระจายเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นมากถึง 40-70% และยังเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดี ทำให้มีอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตสูงขึ้นถึง 30%
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์อัลฟ่า
- มักมีไข้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- ไอ เจ็บคอ
- มีน้ำมูก
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยร่างกาย
- หนาวสั่น
- หายใจหอบเหนื่อย
- อาเจียนหรือท้องเสีย
- การรับรสหรือได้กลิ่นผิดปกติ
-
สายพันธุ์เบต้า (Beta)
รหัสไวรัส: 501Y.V2 หรือ B.1.351
โควิดสายพันธุ์เบต้า หรือ สายพันธุ์แอฟริกา พบครั้งแรกในอ่าวเนลสันแมนเดลา เมืองอีสเทิร์นเคปของแอฟริกาใต้เมื่อเดือนตุลาคม 2563 พบครั้งแรกในไทยที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 สำหรับสายพันธุ์เบต้าพบว่ามีอัตราการแพร่เชื้อไวขึ้น 50% จากสายพันธุ์เดิม อีกทั้งมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งสำคัญ จึงทำให้เชื้อไวรัสมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้น ดังนั้น ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันหรือเคยติดเชื้อแล้วก็จะยังสามารถติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์นี้ซ้ำได้อีก
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์เบต้า
- เจ็บคอ
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยร่างกาย
- ท้องเสีย
- ตาแดง
- การรับรสหรือได้กลิ่นผิดปกติ
- มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง
- นิ้วมือหรือนิ้วเท้าเปลี่ยนสี
-
สายพันธุ์เดลต้า (Delta)
รหัสไวรัส: B.1.617.1 หรือ B.1.617.2
โควิดสายพันธุ์เดลต้า หรือ สายพันธุ์อินเดีย เป็นสายพันธุ์ที่พบในประเทศอินเดีย ก่อนจะมีการกระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก โดยสายพันธุ์นี้สามารถจับเซลล์ของมนุษย์ได้ง่ายขึ้น ติดง่ายขึ้น แพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็วกว่า จึงระบาดเร็ว โดยในประเทศไทยพบครั้งแรกที่คลัสเตอร์แคมป์คนงานหลักสี่ และเป็นสายพันธ์ุหลักที่กำลังแพร่ระบาดรุนแรงในบ้านเราอยู่ขณะนี้ นอกจากนี้ ยังพบว่าโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าสามารถกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลต้า พลัส ซึ่งทำให้ผู้ที่สัมผัสเชื้อติดเชื้อง่ายกว่าเดิม ทั้งยังหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ดี
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์เดลต้า
- มีอาการทั่วไปคล้ายหวัดธรรมดา
- ปวดศีรษะ
- มีน้ำมูก
- เจ็บคอ
- การรับรสชาติปกติ
ตราบใดที่โควิด-19 ยังคงไม่หมดไปจากบ้านเรา การดูแลและป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัดก็ยังมีความจำเป็น ทั้งการสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นที่สาธารณะหากไม่จำเป็น เหนือสิ่งอื่นใด ควรหมั่นรักษาสุขภาพ ดูแลร่างกายให้แข็งแรง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ และหากพบว่าตนเองมีอาการเข้าข่าย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ และหายใจเหนื่อยหรือหายใจลำบาก และมีประวัติสัมผัสหรือใกล้ชิดบุคคลที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาดหรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ควรรีบไปตรวจโควิดทันทีเพื่อจะได้ทราบผลและหาทางรักษาได้อย่างทันท่วงที
-
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron)
รหัสไวรัส: B.1.1.529
โอไมครอน หรือ โอมิครอน คือ โควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ล่าสุดที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็นสายพันธุ์ระดับที่น่ากังวล (Variants of Concern: VOC) ถูกค้นพบครั้งแรกในแถบแอฟริกาใต้ในช่วงสิ้นปี 2564 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีกระจายไปหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่มีอัตราการระบาดค่อนข้างรวดเร็วหลังพบผู้ติดเชื้อชาวอเมริกันที่บินจากสเปน แวะดูไบ ก่อนเข้าไทยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 โดยสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ส่วนโปรตีนหนามมากถึง 32 ตำแหน่ง ทำให้สามารถหลบหลีกภูมิต้านทานได้มากขึ้น เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น ส่งผลต่อการลดประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ปัจจุบันอย่างมาก และมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการกลับมาติดเชื้อซ้ำเพิ่มขึ้น แต่ผู้ป่วยมักติดเชื้อในลักษณะที่เป็นระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงปอด จึงทำให้มีอาการป่วยไม่รุนแรงมาก
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน
- จมูกยังสามารถได้กลิ่น
- ลิ้นรับรสได้ดี
- ไม่ค่อยมีไข้
- ไอมาก
- มีอาการเจ็บคอ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปอดอักเสบ
-
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) - BA.2
รหัสไวรัส: BA.2
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน BA.2 จัดเป็นหนึ่งในสายพันธุ์โควิดใหม่ล่าสุดที่มาเร็วและมาแรงที่สุด แต่มีอาการแสดงน้อยคล้ายอาการของคนเป็นหวัด หรือแทบจะไม่มีอาการเลยในบางราย จนได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘สายพันธุ์ล่องหน’ (Stealth Variant) ที่สำคัญคือโอมิครอน BA.2 นั้นมีความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ก่อนหน้า ซึ่งหมายความว่าแม้ผู้ป่วยจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิดไปแล้วกี่เข็มก็ตาม แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อโอมิครอน BA.2 ได้ในเวลาอันรวดเร็ว
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน - B.2
- เจ็บคอ
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเล็กน้อย
- เหนื่อย อ่อนเพลีย
- ไอแห้งและต่อเนื่อง
- มีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน
-
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) - BA.2.75
รหัสไวรัส: BA.2.75
สำหรับโอไมครอน หรือ โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 มีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้น 9 ตำแหน่งจาก สายพันธุ์ย่อย BA.2 ในจำนวนนี้มี 2 ตำแหน่งสำคัญที่อาจทำให้เกิดการหลบภูมิคุ้มกัน ทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น และทำให้ไวรัสจับกับเซลล์ปอดและรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น เพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อ พบครั้งแรกในต่างประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 แต่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในอินเดียในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา และได้กระจายไปหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก ฝรั่งเศส อิตาลี สำหรับในประเทศไทย มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 รายแรกที่ จ.ตรัง โดยองค์การอนามัยโลกได้จัดสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ให้อยู่ในกลุ่มสายพันธ์ที่น่ากังวลที่ต้องจับตาดู (VOC-LUM)
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน - BA.2.75
- เจ็บคอ คอแห้ง คันคอ
- มีไข้ต่ำ
- น้ำมูกไหล
- จาม
- อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ
-
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) - BA.4/BA.5
รหัสไวรัส: BA.4/BA.5
โควิดสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 เป็นเชื้อกลายพันธุ์ของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอนที่พบการแพร่ระบาดไปก่อนหน้านี้ โดยมีการพบผู้ติดเชื้อรายแรกในแถบแอฟริกาเมื่อช่วงเดือนมกราคม 2565 ในปัจจุบันพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์นี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลกจนองค์กรอนามัยโลกได้ประกาศให้สายพันธุ์ BA.4/BA.5 เป็นสายพันธุ์ย่อยที่ต้องเฝ้าระวัง (VOC) และคาดว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของการแพร่ระบาดทั่วโลก เนื่องจากสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกันกับสายพันธุ์เดลต้า (Delta) กล่าวคือเชื้อไวรัสมีความสามารถในการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในเซลล์ปอดได้ดี ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการปอดอักเสบในผู้ติดเชื้อ แตกต่างจากสายพันธุ์ BA.1/ BA.2 ที่เชื้อมีความสามารถในการแบ่งตัวได้ดีในเซลล์ของเยื่อบุระบบทางเดินหายใจส่วนบน โดย BA.5 จัดเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้เร็วที่สุด โดยแพร่ได้เร็วกว่าไวรัสอู่ฮั่น 5 เท่า และแพร่ได้เร็วกว่าเดลต้า 3.6 เท่า
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน - BA.4/BA.5
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- ไอแห้ง เจ็บคอ มีน้ำมูก
- มีไข้ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้
- ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- ถ่ายเหลว
-
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) - BA.4.6
รหัสไวรัส: BA.4.6
BA.4.6 เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ย่อยของโควิดโอไมครอน หรือ โอมิครอน ถือว่าเป็นแขนงย่อยของ BA.4 อีกทีหนึ่ง ซึ่งสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวนี้มีคุณสมบัติด้านการกลายพันธุ์แบบเดียวกับสายพันธุ์ย่อย BA.4 ซึ่งการกลายพันธุ์ที่โดดเด่นดังกล่าวเกิดขึ้น ณ ตำแหน่งโปรตีนหนามที่เรียกกันว่า R346T พบการระบาดอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกา โดยแฉพาะในแถบ 4 มลรัฐ คือ ไอโอวา (Iowa) แคนซัส (Kansas) มิสซูรี (Missouri) และเนบราสกา (Nebraska) และอีก 43 ประเทศทั่วโลก โดยมีอัตราการเติบโตแพร่ระบาด (Relative Growth Advantage) สูงกว่า BA.4/BA.5 และ BA.2.75 ทำให้ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา ( U.S. CDC) ปรับให้โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4.6 เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) เนื่องจากมีการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่นประมาณ 83 ตำแหน่ง ในขณะที่ BA.2.75 กลายพันธุ์ไป 95 ตำแหน่ง, BA.5 กลายพันธุ์ไป 90 ตำแหน่ง, และ BA.4 กลายพันธุ์ไป 78 ตำแหน่งต่างจากไวรัสดั้งเดิมอู่ฮั่น ซึ่งตำแหน่งกลายพันธุ์คล้ายเดลต้า และเบต้าบางส่วน ขณะที่ในประเทศไทยยังไม่พบผู้ป่วยสายพันธุ์นี้ อย่างไรก็ตาม คงจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดกันต่อไปว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ BA.4.6 จะมีความสามารถในการแพร่กระจาย ก่อโรครุนแรง ลดภูมิต้านทาน และดื้อต่อวัคซีนมากน้อยเพียงใด หากมีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมมาก ก็อาจเป็นไปได้ว่าจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนเจนเนอเรชั่นที่ 2 อย่างแน่นอน
ปัจจุบันพบผู้ป่วยในไทยแล้ว 3 ราย ส่วนจำนวนผู้ป่วยรวมทั่วโลกมีราว 42,000 คน
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน - BA.4.6
- เจ็บคอ
- ปวดศีรษะ
- คัดจมูก
- ไอ (ไม่มีเสมหะ)
- น้ำมูกไหล
-
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) - BQ.1
รหัสไวรัส: BQ.1
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน BQ.1 เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์ BA.5 ที่องค์การอนามัยโลกระบุเป็นสายพันธุ์ที่เฝ้าจับตามอง และมีการระบาดในอเมริกาและยุโรป สำหรับประเทศไทยเพิ่งพบผู้ป่วยรายแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นชายชาวต่างชาติ อายุ 40 ปีที่เดินทางมาจากประเทศจีน ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ต่อมาทางโรงพยาบาลส่งตัวอย่างมาตรวจทางห้องปฏิบัติการและสุ่มตรวจสายพันธุ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และได้ทำการถอดรหัสพันธุกรรมตัวอย่างดังกล่าว จากนั้นส่งเข้าฐานข้อมูล GISAID ตั้งแต่ 21 กันยายน 2565 ซึ่งในขณะนั้นยังถูกจัดเป็นสายพันธุ์ BE.1.1 เป็นลูกหลานของสายพันธุ์ BA.5.3 ต่อมาเมื่อมีข้อมูลมากขึ้นได้ถูกปรับเป็นสายพันธุ์ BQ.1 ที่มีการกลายพันธุ์บริเวณส่วนหนามที่สำคัญ คือ K444T, L452R, N460K, และ F486V ทำให้สายพันธุ์ย่อยนี้สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกัน และแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณความรุนแรง แต่อาจทำให้มีการแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น อีกทั้งดื้อต่อยาแอนติบอดีสำเร็จรูปตัวสำคัญที่ใช้เพื่อรักษาโรค COVID-19 เช่น เอวูเชลด์ (Evusheld) และ เบบเทโลวิแมบ (Bebtelovimab) ซึ่งทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ไทยก็ชี้แจงไว้ว่าโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยนี้มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนและแพร่ติดต่อได้เร็วกว่า โดยระบุไว้ด้วยว่าสายพันธุ์ย่อยใหม่น่าจะเข้ามาแทนที่ BA.5 ได้ภายในสิ้นปีนี้ หรือต้นปี 2566
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน - BQ.1
- อ่อนเพลีย มีไข้
- ไอ คัดจมูก เจ็บคอ
- คลื่นไส้ ท้องเสีย
- ปวดกล้ามเนื้อหรือปวดศีรษะ
-
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) – XBB
รหัสไวรัส: XBB
ส่วนโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB เป็นสายพันธุ์ผสมระหว่างสายพันธุ์ BJ.1 และ BM.1.1.1 โดยมีบรรพบุรุษร่วมกันคือ BA.2 และมีการระบาดกระจายไป 70 ประเทศทั่วโลก โดยพบมากในอินเดีย โดมินิกัน สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังในประเทศไทยพบสายพันธุ์ XBB จำนวน 13 ราย รายแรกเป็นหญิงต่างชาติอายุ 60 ปี เดินทางมาจากฮ่องกง และมาตรวจในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ส่วนรายที่ 2 เป็นชาวไทยอายุ 49 ปี เดินทางมาจากสิงคโปร์ ไปโรงพยาบาลเดียวกัน มีอาการไอ คัดจมูก สิ่งสำคัญที่ต้องระวังคือเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ทั้งจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อธรรมชาติได้ดีกว่าสายพันธุ์เดิม ดังนั้น จึงสามารถติดกันได้ง่ายกว่าเดิม แต่รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน – XBB
- ไอ เจ็บคอ
- มีไข้
- คัดจมูก หรือมีน้ำมูก
- อ่อนเพลีย รู้สึกหนาวสั่น
- คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
-
สายพันธุ์เดลตาครอน
รหัสไวรัส: XBC
โควิด19สายพันธุ์ “เดลต้าครอน XBC” คือ ลูกผสมระหว่างเดลต้าและโอมิครอน BA.2 พบระบาดในฟิลิปปินส์ จากการถอดรหัสพันธุ์กรรมทั้งจีโนมพบว่ามีศักยภาพในการโจมตีปอดคล้ายกับเดลตา และอาจแพร่ระบาดได้รวดเร็วเหมือนโอมิครอน เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ต่างไปจากโควิด19 สายพันธุ์ดั้งเดิมอย่างอู่ฮั่นมากที่สุดถึงกว่า 130 ตำแหน่ง พบระบาดแล้วในหลายประเทศในอาเซียน สำหรับผู้ป่วยรายแรกในไทยเป็นหญิงไทย อายุ 47 ปี ที่ได้รับวัคซีนแล้วรวม 3 เข็ม ทั้งนี้ยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์ แต่อาจจะทำให้มีการแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามสามารถทำให้ติดเชื้อซ้ำได้แม้ในผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์เดลต้าครอน
- น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ
- อ่อนเพลีย
- สูญเสียการรับรสและกลิ่น
-
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) - CH.1.1
รหัสไวรัส: CH.1.1
สำหรับโควิด CH.1.1 ตัวใหม่ที่พบกลายพันธุ์เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ย่อยของ BA.2.75 (BA.2.75 + R346T, K444T, L452R และ F486S) มีความสามารถสูงในการหลบภูมิคุ้มกันได้พอสมควร แต่การระบาด การแพร่กระจายไม่รวดเร็ว พบรายงานครั้งแรกในประเทศอินเดียเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 และแพร่กระจายไปทั่วโลกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โดยพบมากที่สุดในสหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และสิงคโปร์ โดยสายพันธุ์ CH.1.1 มีการกลายพันธุ์บริเวณส่วนหนามที่สำคัญ คือ K444T, L452R, N460K และ F486V ซึ่งทำให้หลบภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีนได้ดี มีคุณสมบัติดื้อต่อแอนติบอดีสังเคราะห์อย่างเอวูเชลด์ (Evusheld) และ เบบเทโลวิแมบ (Bebtelovimab) สำหรับประเทศไทย พบรายงานครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 และมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมประมาณ 200-300 ราย
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน - CH.1.1
- เจ็บคอ คอแห้ง คันคอ
- มีไข้ต่ำ
- น้ำมูกไหล
- จาม
- อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ
-
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) - XBB.1.5
รหัสไวรัส: XBB.1.5
โควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.5 คือ โควิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีการคาดการณ์ว่าจะระบาดในปี 2566 โดยต้นตระกูลของ XBB.1.5 คือ โอมิครอน BA.2 โดยเป็นสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างโอมิครอน 2 สายพันธุ์ คือ BJ.1 และ BM.1.1.1 โดยโควิดสายพันธุ์ XBB.1.5 นี้มีอัตราการแพร่ระบาดรวดเร็วมาก และเป็นสายพันธุ์ที่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดสายพันธุ์หนึ่งในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถจับยึดกับผิวเซลล์บริเวณโปรตีน ACE-2 ของผู้ติดเชื้อได้แน่นที่สุดสายพันธุ์หนึ่ง ทำให้เป็นสายพันธุ์ที่แทรกรุกรานเข้าสู่เซลล์และแพร่ระบาดได้ดี รวมถึงสามารถหลบเลี่ยงต่อภูมิคุ้มกันแบบผสมทั้งจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อตามธรรมชาติได้ดีกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่างอู่ฮั่นมากถึง 104 เท่า ทำให้ติดซ้ำได้ง่ายขึ้น โดยพบว่าเริ่มระบาดในไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา และจากถอดรหัสพันธุกรรมเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก (GISAID) ผ่าน Outbreak.info ร่วมกับองค์การอนามัยโลกพบว่า XBB.1.5 สายพันธุ์หลักในประเทศไทยที่ต้องเฝ้าระวัง
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน – XBB.1.5
- ไอ เจ็บคอ
- มีไข้
- คัดจมูก หรือมีน้ำมูก
- อ่อนเพลีย รู้สึกหนาวสั่น
- คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
-
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) - XBB.1.16
รหัสไวรัส: XBB.1.16
สำหรับโควิดสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 หรือ “โควิดอาร์คทูรัส” (Arcturus) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างโอมิครอน 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ BA.2.10.1 กับ BA.2.75 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในการสังเกตการณ์ขององค์การอนามัยโลก จุดเด่นของสายพันธุ์นี้ คือ แพร่ได้รวดเร็วและหลบรอดภูมิคุ้มกันได้ดีมากทั้งการติดเชื้อตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงโปรตีนหนามบนผิวมากกว่าเดิม สามารถแพร่เชื้อเร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์โอมิครอนเดิมถึง 2 เท่า แพร่กระจายได้เร็วกว่า XBB.1.5 ประมาณ 1.2 เท่า แต่ยังไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเรื่องความรุนแรงของอาการจากเดิม มีรายงานการค้นพบครั้งแรกที่ประเทศอินเดียเมื่อเดือนมกราคม 2566 ส่วนในไทยพบผู้ป่วยสายพันธุ์นี้แล้วจำนวนหนึ่ง รวมถึงมีผู้เสียชีวิตแล้วบางส่วน และคาดว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในไทยเช่นเดียวกับทั่วโลกในอีกไม่นานนี้
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน – XBB.1.16
- มีไข้สูง
- คัดจมูก ไอ
- ผื่นคัน
- ปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย
- จมูกไม่ได้กลิ่น อาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย
- เยื่อบุตาอักเสบ คล้ายตาแดง คันตา ขี้ตาเหนียว ลืมเปลือกตาไม่ขึ้น
-
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) - EG.5.1
รหัสไวรัส: XBB.1.9.2.5.1
EG.5.1 หรือ เอริส (Eris) เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน XBB.1.9.2 โดยมีตำแหน่งกลายพันธุ์เพิ่มเติมบนโปรตีนหนาม เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่แพร่หลายมากที่สุดในสหราชอาณาจักรและในสหรัฐฯ เริ่มระบาดในประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 เป็นต้นมา
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน – EG.5.1 หรือ เอริส
- มีไข้
- ไอ จาม เจ็บคอ
- มีน้ำมูกไหล
- เหนื่อยล้า
- สูญเสียการรับรสหรือกลิ่น
- ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย
- ท้องเสีย
- มีผื่น
- ระคายเคืองตา
-
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) - 2.86
รหัสไวรัส: BA.2.86
โอมิครอน สายพันธุ์ BA.2.86 หรือ พิโรลา (Pirola) เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน BA.2 โดยองค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง หากนำไปเปรียบเทียบกับ XBB.1.5 และ XBB.1.16 จะพบความแตกต่างถึง 36 ตำแหน่ง ทำให้พิโรลามีโครงสร้างที่ต่างออกไปอย่างมาก โดยกลับไปมีลักษณะคล้ายกับสายพันธุ์ก่อน ๆ ที่เคยพบก่อนโอมิครอน อีกทั้งยังหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันมากกว่า EG.5.1 ถึง 1.6 เท่า และดื้อต่อภูมิเพิ่มขึ้นกว่า XBB.1.5 ราว 2-3 เท่า และสามารถจับกับผิวเซลล์ปอดของผู้ป่วยได้ดีมาก พบใน 7 ประเทศ คือ เดนมาร์ก สวีเดน โปรตุเกส อิสราเอล สหรัฐอเมริกา แอฟริกา และอังกฤษ และพบผู้ป่วยในไทยครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน – BA.2.86 หรือ พิโรลา (Pirola)
- มีไข้ หรือ มีอาการคล้ายไข้หวัด
- ไอ
- น้ำมูกไหล
- จาม เจ็บคอ
- อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย
-
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) - 3
รหัสไวรัส: XBB.1.9.2.5.1.1.3
สำหรับโอมิครอนสายพันธุ์ HK.3 มีต้นตระกูลมาจากสายพันธุ์ EG.5.1 โดยมีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกันคือ L455F และ F456L แรกเริ่มมีการระบาดใน 12 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน เดนมาร์ก เยอรมนี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สเปน สวีเดน สหรัฐอเมริกา และระบาดเข้ามาสู่ประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2566 ทั้งนี้ โอมิครอนสายพันธุ์ HK.3 มีความสามารถในการแพร่ได้เร็วกว่า XBB.1.16 มากขึ้นและหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น ทำให้ไวรัสแทรกเข้าไปติดเชื้อในเซลล์ได้ดีกว่าโอมิครอนสายพันธุ์เดิม
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน – HK.3
- มีไข้
- ไอ จาม เจ็บคอ
- มีน้ำมูกไหล
- เหนื่อยล้า
- ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย
-
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) - 1
รหัสไวรัส: JN.1
เดิมที โอมิครอน JN.1 เป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในสหรัฐอเมริกา สืบเชื้อสายมาจาก BA.2.86 โดยมีความแตกต่างทางสายวิวัฒนาการจากโอมิครอนเชื้อสาย XBB ที่ระบาดเป็นสายพันธุ์หลักในปี พ.ศ. 2566 โดยมีการกลายพันธุ์ส่วนหนามของอนุภาคไวรัสที่ใช้ยึดเกาะกับเซลล์มากกว่า 30 ตำแหน่งเมื่อเทียบกับโอมิครอน XBB.1.5 ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้สูงขึ้น หลังระบาดไปกว่า 51 ประเทศทั่วโลก องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจ เนื่องจากมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มระบาดในไทยช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 และคาดการณ์ว่าจะแพร่ระบาดเป็นสายพันธุ์หลักแทนที่โอมิครอนสายพันธุ์อื่นในปี พ.ศ. 2567 เนื่องจากจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า โอมิครอน JN.1 สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดในปัจจุบันและติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดิมที่ผ่านมา
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน – JN.1
- อาการคล้ายไข้หวัด
- มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ เหมือนโรคทางเดินหายใจทั่วไป
- ปวดเมื่อยตามตัว
- ปวดศีรษะ
- สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้
-
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) - KP
รหัสไวรัส: KP
โควิดสายพันธุ์ใหม่อย่าง KP นั้นถือได้ว่าเป็นสายพันธุ์รุ่นหลานของสายพันธุ์โอมิครอน JN.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยสายพันธุ์ KP แตกต่างกับ โอมิครอน JN.1 ที่ตำแหน่งกลายพันธุ์บนส่วนโปรตีนหนามของไวรัส ทำให้ความสามารถในการก่อโรค การหลบภูมิคุ้มกัน ตลอดจนการแพร่กระจายเชื้อแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงถึงความรุนแรง หรือการเพิ่มความสามารถในการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์ลูกผสมนี้
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน – KP
- มีอาการคล้ายกับผู้ป่วยสายพันธุ์ JN.1 คือ มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคล้ายเป็นหวัด
-
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) – KP.2
รหัสไวรัส: KP.2
สายพันธุ์ลูกผสมอย่าง KP.2 หรือที่มีชื่อเล่นว่า ‘FLiRT’ เป็นสายพันธุ์ที่คาดว่าจะเริ่มระบาดแทนที่สายพันธุ์ JN.1 ซึ่งมีการแพร่ระบาดอยู่ในประเทศไทยมายาวนานพอสมควรตั้งแต่ปลายปี 2566 เป็นต้นมา โดยพบการติดเชื้อครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2567 สำหรับความรุนแรงของสายพันธุ์ใหม่นี้ ยังไม่พบว่าสามารถก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงขึ้นแต่อย่างใด แต่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าผู้ป่วยอาจจะติดเชื้อได้ง่ายขึ้นเนื่องจากความสามารถในการหลบหลีกภูมิต้านทานเดิมดีขึ้น โดยปัจจุบัน สายพันธุ์ KP.2 ได้มีการระบาดเป็นสายพันธุ์หลักในหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ ส่วนสาเหตุที่มีชื่อเรียกว่า ‘FLiRT’ นั้นมาจากการที่ ศาสตราจารย์ T.Ryan Gregory นักวิทยาศาสตร์ชาวแคนาดาพบว่ามีการกลายพันธุ์ของกรดอะมิโนที่โปรตีนบริเวณส่วนหนามของเชื้อไวรัสเดิม 2 ตำแหน่ง คือที่ตำแหน่ง 456 จาก F เปลี่ยนเป็น L และที่ตำแหน่ง 346 จาก R เปลี่ยนเป็น T จึงนำอักษรย่อทุกตัวมารวมกัน และใส่ i ตรงกลางเป็น ‘FLiRT’
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน – KP.2
- เจ็บคอ ไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล
- ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ
- มีไข้ อ่อนเพลีย หนาวสั่น
- หายใจลำบาก
- คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง
-
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) – KP.3
รหัสไวรัส: KP.3
โอมิครอน KP.3 เป็นโควิดสายพันธุ์ใหม่ในตระกูล ‘FLiRT’ ที่เริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อราวกลางเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา โดยกลายพันธุ์มาจากโอมิครอน JN.1 ที่มีการระบาดเป็นสายพันธุ์หลักในไทยตั้งแต่ช่วงสิ้นปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม มีการสุ่มตรวจเจอผู้ป่วยที่ติดเชื้อจาก KP.3 ครั้งแรกใน จ.พระนครศรีอยุธยา จากการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของโอมิครอน KP.3 พบว่ามีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมบริเวณส่วนหนามของไวรัสที่ใช้จับผิวเซลล์ที่ตำแหน่ง Q493E ส่งผลให้สายพันธุ์ดังกล่าวนี้สามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าโอมิครอน JN.1 เกือบ 2.3 เท่า และมีความสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าเดิม จึงแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้นแม้ในกลุ่มผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิดหรือได้รับวัคซีนมาแล้ว
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน – KP.3
- เจ็บคอ ไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล
- ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ
- มีไข้ อ่อนเพลีย หนาวสั่น
- หายใจลำบาก
- คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง
- สูญเสียการรับรู้รสชาติหรือกลิ่น
- รู้สึกเบลอหรือมึนงง
ขอขอบคุณที่มา
https://www.matichon.co.th/local/news_2859267
https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30953
https://www.narayanahealth.org/blog/omicron-subvariant-ba-2-75/
https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/182290/